Custom Search

MBA Holiday

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554


ภายในกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การต้องได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินงานภายในของกิจการ และข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมภายนอกทั้งหลาย โดยได้รับข้อมูลที่เหมาะสมถูกต้อง และพอเพียงที่จะเอามาใช้งาน พร้อมกับได้รับมาทันเวลาที่ต้องการใช้ด้วย นอกจากนี้ ที่สำคัญอีกอีกประการหนึ่งก็คือ การติดต่อสื่อสารของผู้บริหารระดับสูงที่ถ่ายทอดลงมาในระดับต่างๆ ก็นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น ให้ทุกระดับการบริหารสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติงานได้
จะเห็นว่าระบบข้อมูลจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นที่จะขาดไม่ได้ โดยในเวลาเดียวกัน กระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ก็จะเป็นกลไกสำคัญที่อยู่ในระบบดังกล่าวนั้น
สำหรับคุณสมบัติ ที่จำเป็นเพื่อการพัฒนากลยุทธ์ในองค์กรนั้น Bruce Henderson ผู้บุกเบิกวิชาความรู้ทางด้านกลยุทธ์การแข่งขันได้แนะนำไว้คือ
ก) การต้องมีความรู้ต่างๆ ที่สำคัญมากพอ
ข) มีความสามารถในการประมวลความรู้ ทั้งหลายเหล่านี้เข้ามาใช้ประกอบกันเพื่อการวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ
ค) มีทักษะเกี่ยวกับการวิเคราะห์เชิงระบบอย่างเพียงพอ เพื่อที่จะสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบ ให้เห็นได้หลายแง่มุมต่างกัน รวมทั้งความแตกต่างกันอันเนื่องมาจากเวลา โอกาสในปัจจุบันกับความเป็นไปได้ในอนาคต และผลกระทบสืบเนื่องจากต่างๆ ที่จะตามมาด้วย
ง) มีมโนภาพและหลักเหตุผลในการคิดที่จะนำมาใช้พิจารณาเลือกทางเลือกต่างๆ
จ) การสามารถควบคุมทรัพยากรได้มากกว่าเท่าที่ต้องการในปัจจุบัน
ฉ) มีพลังกล้าที่จะปล่อยผลประโยชน์ในปัจจุบัน เพื่อที่จะแลกกับการไปลงทุนในสิ่งที่จะมีโอกาสที่ดีในอนาคต
ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์เพื่อการจัดวางกลยุทธ์
1. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก คือการตรวจสอบโดยละเอียดเกี่ยวกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี
2. การวิเคราะห์โดยละเอียดเกี่ยวกับทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ภายในและจุดแข็ง และจุดอ่อน เพื่อประเมินให้ทราบถึงความสามารถที่มีอยู่
3. การับรู้ถึงค่านิยมส่วนบุคคลและวัตถุประสงค์ส่วนตัวของกลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจ
4. การพิจารณาตกลงใจเกี่ยวกับความรับผิดชอบขององค์กร

กลยุทธ์ (Strategy) คือกลยุทธ์ขององค์การต่อสภาพแวดล้อม ที่จะเป็นแผนที่นำทาง ในการขับเคลื่อนให้องค์การผ่านไปในสภาพแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนนี้จะประกอบด้วยวัตถุประสงค์ นโยบาย และแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่องค์การจะมาใช้ดังเช่น กรณีของธนาคารกสิกรฯ ที่ขยายธุรกิจด้านสินเชื่อ เพื่อเข้าสู่ลูกค้าขนาดกลาง ธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้เครื่อง ATM เพื่อแก้ไขจุดอ่อนในการขยายธุรกิจสู่กลุ่มลูกค้ารายปลีก หรือบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ที่ก้าวสู่ธุรกิจใหม่หลายด้าน ตั้งแต่ยางรถยนต์ เครื่องจักรกล ไปจนถึงสินค้าไฮเทคต่าง ๆ เป็นต้น
โครงสร้าง (Structure) หรือโครงสร้างองค์การ ซึ่งหมายถึงการจัดกลุ่มงาน และโครงสร้างองค์การ เพื่อใช้สำหรับปฏิบัติตามกลยุทธ์ คุณค่าของโครงสร้างต่อประสิทธิภาพการบริหารก็คือ ทำให้กลุ่มงานและทรัพยากรที่ใช้ปฏิบัติงานสามารถดำเนินไปโดยมีประสิทธิภาพ รูปแบบของโครงสร้าง ให้มีการกระจายอำนาจหรือจัดเป็นศูนย์กำไร หรือรวมกลุ่มโครงสร้างทางธุรกิจและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
การบวนการ (Process) หรือกระบวนการปฏิบัติงาน ซึ่งหมายถึง กระบวนการพฤติกรรมขององค์การ (Organizational Process & Behavior) รายละเอียดในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการตั้งเป้าหมาย การวัดผล การจูงใจ ให้รางวัลตอบแทนต่าง ๆ และการสร้างความสามัคคี ความจงรักภักดี การคิดริเริ่ม และการทุ่มเทกำลังความสามารถให้ปรากฏเป็นผลงานที่ดี ทั้งนี้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมักจะเป็นเรื่องของผู้นำ การสร้างทีมงาน และการจูงใจ ที่ได้ผลในทางปฏิบัติหรือก็คือ ส่วนของการบริหารทรัพยากรบุคคลนั่นเอง
จากส่วนประกอบของการบริหารองค์การทั้ง 3 ด้านข้างต้น คือ กลยุทธ์โครงสร้าง และกระบวนการนี้แท้จริงแล้วก็คือ ส่วนสรุปที่จะเป็นแนวคิดในการปฏิบัติ หน้าที่งานทางด้านการบริหารต่างๆ เพื่อที่จะมีการเน้นหนักในส่วนต่าง ๆ ทั้ง 3 ส่วนเหล่านี้ เพื่อให้บังเกิดผลสำเร็จต่อองค์การได้สูงสุดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไร
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกลยุทธ์การบริหาร ที่สามารถปรับให้มี ดุลยภาพได้นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ
ก) กลุ่มที่หนึ่ง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ (Strategy) และโครงสร้าง (Structure) ซึ่งถือได้ว่า เป็นส่วนที่แข็งหรือไม่คล่องตัว และปรับได้ค่อนข้างช้า
ข) กลุ่มที่สอง คือ แบบการบริหาร (Style) ระบบงาน (System) พนักงาน (Staff) ทักษะ (Skill) และค่านิยมร่วม ( Shared value) ทั้งหมดนี้คือส่วนที่มีความคล่องตัว หรือสามารถปรับตัวได้ง่าย

องค์การ (organization structure) ที่เหมาะสม เช่น การแบ่งฝ่าย แผนก การกำหนดขนาด การกระจายอำนาจเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการคิดถึงกลยุทธ์รูปแบบโครงสร้างให้เป็นแบบศูนย์กำไร (profit center) รวมทั้งการจัดทีมงานปฏิบัติการและฝ่ายวิชาการเพื่อคอยให้การสนับสนุน ตลอดจนการจัดระบบงาน กระแสการไหลของงาน และวิธีทำงานต่าง ๆ ด้วย
3. กลยุทธ์การบริหารการปฏิบัติ (Process) คือการคิดเกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์การบริหารคนผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะรวมทั้งการจูงใจบุคคล การกำกับพฤติกรรมกลุ่ม และการประสานพฤติกรรมขององค์การ ให้เป็นพลังร่วมที่ทุ่มเทการทำงานให้กับองค์การได้สูงสุด
ด้วยเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ดังกล่าวนี้เอง ผู้บริหารในระดับกลางและสูงของทุกองค์การ จึงต้องศึกษาและฝึกทักษะความรู้เกี่ยวกับการบริหารที่สำคัญ ให้ครบทั้ง 3 ด้านคือ
(ก) ศึกษานโยบายธุรกิจ (Business Policy) เพื่อใช้กับการบริหารส่วนแรก กลยุทธ์การกำหนดทิศทางธุรกิจให้กับองค์การ
(ข) ศึกษาทฤษฎีองค์การ และการออกแบบงาน และตำแหน่งงานต่าง ๆ (Organizational Theory & Design) เพื่อใช้กับการบริหารส่วนที่สอง คือกลยุทธ์การบริหารโครงสร้างองค์การและระบบงาน
(ค) ศึกษาพฤติกรรมองค์การ (Organization Behavior) เป็นหัวใจและศูนย์กลางของปริมาณและคุณภาพ

การศึกษาการบริหารทางกลยุทธ์ ในแนวแรกที่กล่าวมาคือ ตามแนวการสอน นโยบายธุรกิจ (Business Policy) ตามที่ Harvard Business School ได้ทำเป็นแบบฉบับนั้น นับว่าเป็นแบบที่เชื่อได้ว่าดีที่สุด เพราะจะช่วยให้สามารถได้โอกาสฝึกฝนทักษะ ในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Business Strategy) อันเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์องค์การได้ ทั้งนี้ โดยยังสามารถมีการคิดทางกลยุทธ์ต่อเนื่องเข้าไปถึงขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ อันเป็นส่วนของการบริหารทรัพยากรภายในได้อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของระบบบริหารย่อย ๆ ทั้งโครงการ องค์การ และกระบวนการปฏิบัติได้มากตามสมควร การศึกษาอย่างเป็นระบบและกระบวนการจึงเกิดขึ้นอย่างดีด้วย

การศึกษากลยุทธ์การบริหารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารทางกลยุทธ์ในส่วนนี้ คือภาระต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารองค์การทั้งหมด แต่จะมีจุดมุ่งของ การพิจารณาในแง่ของการบริหาร (management aspects) เป็นสำคัญ ดังนั้นตามความหมายนี้ กลยุทธ์ที่คิดค้นขึ้นมา จึงเป็นการคิดค้นโดยอาศัยพื้นฐานทางการบริหารเป็นหลัก ระบบการบริหารหลัก และวิธีการบริหารทั้งหลาย จึงเป็นขอบเขตสำหรับการนำมาคิดวิเคราะห์หาทางจัดวางกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้บริหารให้เกิดประสิทธิภาพได้

สามารถแยกพิจารณาเป็นส่วน ๆ สำหรับการบริหารทางกลยุทธ์ คือ
ส่วนที่ 1 ความเกี่ยวพันกันขององค์การกับสภาพแวดล้อม
ในส่วนนี้จะหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง "องค์การ" ซึ่งเป็นหน่วยงานหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ได้เลือกสรรมาแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งกับ "สภาพแวดล้อม" ซึ่งเป็นสภาพเงื่อนไขของปัจจัยภายนอก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์การ ที่ซึ่งสภาพเงื่อนไขอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี อันเป็น "โอกาส" ที่จะเออำนวยให้กับการทำงานขององค์การ หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปในทางไม่ดีจนกลายเป็น "ข้อจำกัด" ที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการขององค์การได้
ส่วนที่ 2 ระบบต่าง ๆ ขององค์การ
1. ระบบโอกาส ระบบโอกาสเป็นระบบของการทำงานของผู้บริหารระดับสูง ที่คาบเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมภายนอกโดยตรง ระบบโอกาสนี้ จึงเป็นระบบที่อยู่คร่อมระหว่างองค์การกับสภาพแวดล้อมทั้งสองวง และในเวลาเดียวกัน ภาระงานบริหารด้านนี้ของผู้บริหาร ก็จะเป็นงานด้าน "การบริหารโอกาส" (opportunity management) นั่นเอง
2. ระบบงาน คือ ระบบของทรัพยากรต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้ภายในองค์การเพื่อสำหรับการปฏิบัติงานตามแผนงานต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ ระบบงานนี้จะประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เป็นทรัพยากรที่นำมาใช้เพื่อการปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องทำ ปัจจัยเหล่านี้จะประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เป็นปัจจัยทางวัตถุสิ่งของ เช่น เงินทุน เครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ
3. ระบบคน คือ ทรัพยากรที่ซึ่งมีชีวิตจิตใจ พร้อมทักษะ ความชำนาญและความสามารถที่จะเข้ามาปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ทรัพยากรบุคคล ผู้ทำงานเหล่านี้ จะเป็นผู้ดำเนินกิจการต่าง ๆ ในขั้นปฏิบัติ โดยจะเป็นผู้ใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น เงินทุน สิ่งของ วัตถุดิบ และจะเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบ โดยทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินเครื่องจักรหรือคอยให้บริการตามหน้าที่เป็นต้น ผลงานที่ได้ออกมาจากที่ได้ดำเนินไป จะดีมากหรือน้อยอย่างไรนั้น ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านบุคคลนี้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะคน นับเป็นปัจจัยที่ผันแปร ซึ่งต่างกับปัจจัยทรัพยากรอื่นๆ
ส่วนที่ 3 ระบบการบริหาร คือ ระบบการทำงานของผู้บริหารในการบริหารระดับต่างๆ ขององค์การให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดผลสำเร็จมากที่สุดสำหรับองค์การ ระบบการบริหารนี้ หากจะพิจารณาเริ่มจากระบบต่าง ๆ ขององค์การโดยสัมพันธ์มาถึงการปฏิบัติหน้าที่การบริหารโดยนักบริหาร
ภารกิจของผู้บริหารคือ การสร้างประสิทธิภาพในการจัดระบบงานต่างๆ ให้เหมาะสม สะดวกและง่าย ที่คนผู้ปฏิบัติจะทำได้โดยมีประสิทธิภาพการผลิตสูง ซึ่งจะพิจารณามองภาระหน้าที่ ดังกล่าวเป็นภาพรวม ก็คือ "การประสานงาน" (coordination) หรือการประสานงานการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ ให้เข้ากันได้ (coordination work) นั่นเอง แต่ในทางปฏิบัติผู้บริหารจะมีวิธีการปฏิบัติที่เรียกได้ว่าเป็น "หน้าที่งานบริหาร" (managerial function) ที่เป็นมาตรฐานที่จะต้องกระทำโดยตัวผู้บริหารเอง 5 ประการ คือ
- การวางแผน (planning) หรือการกำหนดทิศทางองค์การพร้อมกับเป้าหมายและแผนงานต่างๆ
- การจัดองค์การ (organizing) หรือการจัดระเบียบทรัพยากรให้เป็นระบบงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นระบบวิธีทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ที่เรียกกันทั่วไปว่า "The one best way"
- การจัดคนเข้าทำงาน (staffing) คือการจัดหา พัฒนา และธำรงรักษาให้องค์การมรทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าสูงสุด เพื่อพร้อมที่จะปฏิบัติงานและสร้างสรรค์ความสำเร็จให้กับองค์การจากเจ้าหน้าที่ที่แต่ละคนรับปฏิบัติอยู่
- การสั่งการ (directing) หรือการมีศิลปการสร้างความเข้าใจและรู้จักจูงใจและกำกับให้ผู้ทำงานทุกคน และทีมงานต่าง ๆ ทำงานโดยทุ่มเทและเสริมประสานต่อกันเพื่อผลสำเร็จของส่วนรวมร่วมกัน
- การควบคุม (control) หรือการติดตามผลการปฏิบัติงานที่กำลังดำเนินไป เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพของการทำงานต่างๆ ในระหว่างกระบวนการทำงาน ทั้งนี้ หากผลงานใดผิดไปจากที่คาดคิด ผู้บริหารก็จะแก้ไขและปรับให้การทำงานกลับสู่ภาวะที่มีประสิทธิภาพอีกครั้ง และโดยที่การควบคุมนี้อยู่ในขั้นตอนของการปฏิบัติโดยบุคคลต่างๆ อยู่ ดังนั้นการติดตามผลการปฏิบัติ และการปรับแก้ ต่างก็ต้องกระทำกับคนผู้ทำงานที่กำลังปฏิบัติอยู่ในขณะนั้น และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ความหมายของการควบคุมที่แท้จริง จึงเป็น "การควบคุมคนที่ทำงาน" นั่นเอง
การบริหารองค์การเชิงกลยุทธ์ ในทางปฏิบัติ การบริหารองค์การโดยผู้บริหารจะไม่กระทำโดยแยกหน้าที่บริหารเป็นอย่าง ๆ โดยนำออกมากระทำทีละอย่าง ๆ และยังอาจกระทำสลับไปมา หรือเน้นบางหน้าที่งานมากเป็นพอเศษก็ได้ สภาพดังกล่าวของการบริหารองค์การ ในทางปฏิบัติที่ทำจริง จึงสามารถพิจารณาเป็นภาพรวมเป็นภารกิจทางการบริหารด้านใหญ่ ๆ 3 ด้านคือ
1. ด้านแผนงาน หรือความสามารถในการบริหารองค์การ โดยวางแผนให้องค์การโดยส่วนรวมสามารถเลือกทำธุรกิจที่ดีที่สุด ที่ซึ่งจะช่วยองค์การสำเร็จผลในทางต่าง ๆ ได้สูง โดยมีการเสี่ยงน้อย
2. ด้านโครงสร้าง คือการสามารถบริหารทรัพยากรขององค์การให้มีการจัดรูปขึ้นมาเป็นโครงสร้างองค์การและระบบการทำงานต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ดำเนินการปฏิบัติ เพื่อทำงานตามแผนงานบรรลุผลสำเร็จทุกขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ด้านกระบวนการปฏิบัติ คือการสามารถสร้างประสิทธิผล และประสิทธิภาพในขั้นตอนการปฏิบัติงานจริง โดยพนักงานทุกกลุ่มทุกระดับ ที่ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ โดยให้มีการทุ่มเทคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และประสานสามัคคีจนเกิดผลดีในการช่วยสร้างผลงาน และผลสำเร็จให้กับภารกิจในระยะยาวได้
ระดับภาพรวมการบริหารเชิงกลยุทธ์
1. กลยุทธ์การกำหนดทิศทางทำธุรกิจ (Strategy หรือ Business Strategy) คือการพิจารณายุทธศาสตร์ขององค์การในการเลือกวัตถุประสงค์ นโยบายและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจขององค์การให้สำเร็จผลสูงสุด ภายในสภาพตลาดที่แข่งขันและภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไป
2. กลยุทธ์การบริหารโครงสร้าง (Structure) คือการคิดถึงยุทธศาสตร์ในการแบ่งสรรทรัพยากรทุกชนิดให้ออกมาเป็นกลุ่มการแบ่งงานที่มีประสิทธิภาพ คือ เป็นโครงสร้าง

กลยุทธ์ นี้ หากถูกนำไปใช้ในขอบเขตที่กว้างที่สุด คือ ใช้คู่กับคำว่า องค์การ ซึ่งตรงกับคำว่า กลยุทธ์องค์การ หรือที่ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Organization strategy แล้ว ก็จะมีความหมาย หมายถึง "กลยุทธ์ของกิจการโดยส่วนรวม" ในการดำเนินการธุรกิจต่อภายนอกให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์หลักส่วนสำคัญของ กลยุทธ์ของกิจการ ที่ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางปฏิบัติ ก็คือ กลยุทธ์ทางธุรกิจ (Business Strategy) หรือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ทางกลยุทธ์ว่าองค์การจะบริหารทรัพยากรเพื่อหาประโยชน์จากสภาพแวดล้อมให้ได้ผลสำเร็จที่ดีที่สุด อะไรบ้างและด้วยวิธีการอย่างไร ซึ่งส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่สุดของกลยุทธ์ทั้งหมดสำหรับอีกส่วนหนึ่งที่ตามหลังต่อจากกลยุทธ์ทางธุรกิจก็คือ กลยุทธ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหรือการปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ กลยุทธ์ในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับการพยายามค้นหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ที่จะให้การบริหารงานภายในทั้งหลายเป็นไปโดยราบรื่น ไม่ติดขัด และเอื้ออำนวยให้องค์การบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ ทั้งหมดนี้จึงเท่ากับเป็นส่วนของ กลยุทธ์การบริหาร ที่เป็นส่วนของภาคปฏิบัติของการบริหารงานโดยกลุ่มของผู้บริหารระดับสูงขององค์การ ที่จะสามารถมีวิธีบริหารระบบย่อยทางการบริหารต่างๆ ให้เกิดผลต่อการดำเนินงานที่ดีนั่นเอง
การแบ่งการศึกษาการบริหารทางกลยุทธ์
การศึกษาการบริหารทางกลยุทธ์ เพื่อให้สามารถครอบคลุมการได้ความรู้การบริหารทางกลยุทธ์อย่างครบถ้วนนั้น การศึกษาควรจะกระทำมาจาก 2 ทาง คือ
(1) การศึกษามุ่งเน้นการจัดทำหรือการจัดวางกลยุทธ์กิจการ หรือการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์การ กับกลยุทธ์การดำเนินงานต่าง ๆ ตามแนวของการศึกษา นโยบายธุรกิจ (Business Policy) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ศึกษาได้สร้างทักษะทางด้านการวิเคราะห์ สภาวะการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมกับการวิเคราะห์ตลาดและผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาจัดวางกลยุทธ์ทางธุรกิจให้กับองค์การ พร้อมกับกลยุทธ์การดำเนินการต่างๆ จุดแข็งของการศึกษาในแนวทางข้างต้น คือการกำหนดวัตถุประสงค์ นโยบายและกลยุทธ์หลักของกิจการ ในการประกอบธุรกิจหรือทำกิจกรรมในสภาพแวดล้อมภายนอกจะมีคุณภาพสูง ซึ่งเท่ากับการบริหารองค์การต่อสภาพแวดล้อมอันเป็นส่วนสำคัญและเป็นงานยากจะทำได้ดีขึ้นและได้รับความสนใจมากกว่าการวางกลยุทธ์การบริหารสภาพแวดล้อมภายในองค์การในขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับองค์การ และกระบวนการปฏิบัติงาน ก็จะกลายเป็นเรื่องรองลงไป
(2) การศึกษาโดยมุ่งเน้นที่ การจัดการทางกลยุทธ์ หรือการบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) หรือการมุ่งศึกษาการจัดการต่าง ๆ ในแนวทางการคิดเป็นเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาการบริหารเปิดกว้างสำหรับการคิดค้นหาทางออก ในวิธีบริหารต่าง ๆ ทุกด้านอย่างกว้างขวางเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางการบริหารโดยวิธีนี้ น้ำหนักความสนใจ จะกระจายทุ่มเทให้กับการบริหารองค์การ ทั้งต่อภายนอกกับสภาพแวดล้อม และกับการบริหารทรัพยากรต่าง ๆ ภายในองค์การโดยมีน้ำหนักเท่ากัน เพราะการศึกษาตามวิธีนี้ จะกระทำพร้อมกันไปทั้งสองด้านนั่นเอง
จุดแข็งดูเหมือนจะอยู่ที่ การเปิดกว้างทำให้มีขอบเขตกว้างและมองไกล การวิเคราะห์พิจารณาจึงพลอยกว้างขวางตามไปด้วย และอีกประการหนึ่งก็คือ มีการคิดริเริ่มทางกลยุทธ์ได้ตลอดเวลา กับงานทุกด้านและปัญหาทุกอย่างของกิจการ แต่เมื่อพิจารณาดูถึงเวลาการสอน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องกระทำโดยใช้กรณีศึกษาตามแนวทางนี้ในเวลา 16 สัปดาห์ ดูจะดำเนินการให้ได้ผลตามที่คาดคิดได้ยากมากผลที่ได้จริงของการสอนคลุมกว้างเช่นนี้ ในด้านจุดเด่นที่เคยมีอยู่คือ ความสามารถคิดวิเคราะห์ "กลยุทธ์ทางธุรกิจ" ของกิจการอันเป็นหัวใจของเรื่องราวการศึกษากลยุทธ์ขององค์การจะขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย ที่มีจุดเด่นคือ ทักษะในการประเมินและจัดวางกลยุทธ์ขององค์การ เริ่มต้นจากเรื่องสำคัญที่สุดคือ กลยุทธ์ทางธุรกิจ ต้องหย่อนไปอย่างน่าเสียดายทางเลือกการศึกษาการบริหารทางกลยุทธ์

กลยุทธ์การบริหารที่ทรงประสิทธิภาพที่จะทำให้การบริหารสามารถประสบผลสำเร็จได้อย่างดีในทุกสถานการณ์ และทุกเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมนั้น ลักษณะจะเป็นดังนี้ คือ

1. เป็นการบริหารเชิงรวมที่กระทำอย่างเป็นระบบที่มีการบริหารครบสมบูรณ์ทุกด้าน
2. เป็นการบริหารที่พร้อมสมบูรณ์ด้วย "แผนงาน" ที่มีประสิทธิภาพ ที่ซึ่งระบุออกมาโดยอาศัย "เป้าหมาย" (goals) เป็นเครื่องมือ แผนงานที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้ก็โดยการให้ผู้ปฏิบัติได้มีส่วนร่วมในการพิจารณากำหนดเป้าหมายเหล่านี้ด้วย
3. เป็นการบริหารที่พร้อมสมบูรณ์ด้วย เทคนิคการจัดทำแผน การวัดผล การจูงใจ การควบคุม การพัฒนานักบริหาร และการสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย
ตามลักษณะทั้งสามประการข้างต้น ถ้าจะนำมาพิจารณาจัดทำเป็นกลยุทธ์การบริหารในทางปฏิบัติแล้ว อาจแยกเป็น "กลยุทธ์การบริหาร" ประการต่าง ๆ ดังนี้คือ
1. การใช้วิธีการบริหารอย่างเป็นระบบโดยอาศัย การบริหารโดยเป้าหมาย (MBO) เป็นเครื่องมือ
2. การอาศัย "แผนกลยุทธ์" เป็นเครื่องมือเสริมสร้างประสิทธิภาพผลผลิตระยะยาว
3. การใช้โครงสร้างเป้าหมายผลสำเร็จเป็นตัวเร่งผลผลิต
4. การอาศัยกระบวนการร่วมวางแผน และตั้งเป้าหมาย เพื่อให้พนักงานผูกพันต่อเป้าหมายผลสำเร็จ
5. การใช้วิธีจูงใจคนเพื่อเพิ่มผลผลิต
6. การอาศัยระบบการควบคุมแบบสร้างสรรค์
7. การเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการวางแผนทรัพยากรบุคคล และพัฒนาความสามารถทางการบริหาร
8. การเพิ่มประสิทธิภาพ ด้วยวิธีเสริมขวัญและกำลังใจ โดยอาศัยการให้โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่งานบริหาร
9. การใช้กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพจากการบริหารพฤติกรรมองค์การโดยส่วนรวม
10. การเพิ่มประสิทธิภาพโดยการเรียนรู้และเอาชนะคู่แข่งขัน
11. การสร้างประสิทธิภาพ โดยปรับการบริหารให้สอดคล้องกับปัญหาในอนาคต
กล่าวโดยสรุป กลยุทธ์การบริหารที่ทรงประสิทธิภาพ แต่ละประการตามที่กล่าวข้างต้นนี้ อาจกล่าวได้ว่า ก็คือ การบริหารเชิงรวมที่เป็นภารกิจทางการบริหารของผู้บริหารที่มีอยู่เป็นพิเศษ ก็คือ
1. การใช้วิธีบริหารแบบมุ่งหมาย (goal-oriented management) เป็นสำคัญ ทั้งนี้ก็เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาวิกฤตินั้น ประสิทธิภาพผลผลิตที่ทำได้จะเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่นักบริหารจะต้องวัดผล และติดตามตลอดเวลา การตั้งเป้าหมายผลสำเร็จที่ต้องการ และการติดตามผลงานที่ทำได้ต่างก็ต้องอาศัย เป้าหมายเป็นเครื่องมือที่จะขาดเสียมิได้
2. การจัดระบบการวางแผนที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้องค์การ มีความเข้มแข็งจากการมีระบบการวางแผนกลยุทธ์สำหรับระยะยาว รวมทั้งการมีระบบการวางแผนที่สามารถระบุเป้าหมายผลสำเร็จต่าง ๆ ที่จะสามารถนำมาใช้บริหารงาน เพื่อผลสำเร็จร่วมกันทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายปฏิบัติ
3. การจัดระบบการบริหารงานในขั้นปฏิบัติที่ดีพร้อม นั่นคือ การใช้ระบบการวัดผล ประเมินผล การจูงใจทรัพยากรบุคคล ตลอดจนระบบการควบคุม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการเสริมสร้างประสิทธิภาพผลผลิตให้สูงขึ้นได้ตลอดเวลา

INPUT คือทรัพยากรการบริหาร ( Management resources ) อันได้แก่ 4 M’s ประกอบด้วย คน ( Man ) เงิน ( Money ) วัตถุดิบ ( Material ) และวิธีการ / จัดการ ( Method / Management ) ถูกนำเข้าในระบบเพื่อการประมวลผลหรือการบริการที่เติบโตและ
พัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมกับอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการที่เติบโตและพัฒนาขึ้นไปอย่างรวดเร็วทำให้ทรัพยากรเพียง 4 ประการเริ่มไม่เพียงพอสำหรับเป้าหมาย จึงได้เพิ่มขึ้นอีก 2 M’s เป็น 6 M’s ได้แก่ เครื่องจักรกล ( Machine ) และ การตลาด ( Market ) ในขณะเดียวกันการทำงานที่มองเห็นถึงความสำคัญ หรือคุณค่าของจิตใจของผู้ปฏิบัติงานมีมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของคนงานมากขึ้น จึงเพิ่มขวัญและกำลังใจ ( Morale ) เข้าไปเป็น 7 M’s และเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ( Globalization ) ระบบการสื่อสารไร้พรหมแดนที่ติดต่อเชื่อมโยงกันเป็นระบบเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลกทำให้การติดต่อสื่อสารรวดเร็วใครไม่รู้หรือไม่มีข้อมูลย่อมเสียเปรียบในเชิงธุรกิจจึงได้เพิ่ม ข้อมูลข่าวสาร ( Message ) เข้าไปในทรัพยากรกระบวนการผลิต รวมเป็น 8 M’s ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุดตราบเท่าที่ระบบอุตสาหกรรมการผลิตการจัดจำหน่ายและการบริการยังคงพัฒนาและก้าวไปไม่หยุดยั้ง
PROCESS คือ หน้าที่หรือกิจกรรมขั้นพื้นฐานที่ผู้บริหารต้องกระทำ ในปัจจุบันยึดถือหน้าที่ 4 ประการได้แก่ POLC การวางแผน ( Planning ), การจัดองค์การ ( Organizing ), การชี้นำ ( Leading ) และ การควบคุม ( Controlling ) ซึ่งมีพัฒนาการของแนวคิดมาตั้งแต่สมัยของ ฟาโย ( Henri Fayol )ปี 1916 ที่เห็นว่าหน้าที่การจัดการ ประกอบด้วย POCCC ได้แก่ การวางแผน ( Planning ), การจัดองค์การ ( Organizing ), การสั่งการ ( Commanding ), การประสานงาน ( Coordinating ), การควบคุม ( Controlling ) ต่อมาในปี 1937 กูลิกและเออร์วิก ( Gulick และ Urwick ) เห็นว่ากระบวนการจัดการประกอบด้วย การวางแผน ( Planning ), การจัดองค์การ ( Organizing ), การจัดคนเข้าทำงาน ( Staffing ), การอำนวยการ ( Directing ), การประสานงาน (Coordinating ), การรายงานผล ( Reporting ) และ การงบประมาณ ( Budgeting ) ซึ่งนิยม เรียกย่อว่า POCDCORB ครั้งเมื่อเข้าปี 1972 แฮร์โรลด์ คูนตซ์ ( Harold D. Koontz ) มีความเห็นว่าหน้าที่ทางการจัดการคือ POSDC ได้แก่การวางแผน ( Planning ), การจัดองค์การ ( Organizing ), การจัดคนเข้าทำงาน ( Staffing ),การอำนวยการ ( Directing ) และการควบคุม ( Controlling )ซึ่งแนวความคิดของเขาเปลี่ยนแปลงไปชัดเจน โดยในปี 1988 คูนตซ์และเวียห์ริช ( Koontz และ Weihrich )เขียนตำราใช้ชื่อว่า Management ร่วมกันและได้เปลี่ยนหน้าที่ทางการจัดการจากตัว D ( Directing ) เป็น L ( Leading ) พัฒนาด้านแนวคิดดังกล่าวยังคงก้าวต่อไปไม่หยุดยั้ง บางทีในยุคหน้าเราอาจเห็นหน้าที่การจัดการที่เหลืออักษรเพียงตัวเดียวหรือสองตัวเท่านั้นก็เป็นได้ ดังนั้นอาจสรุปหน้าที่หรือกิจกรรมขั้นพื้นฐานทางการจัดการได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการ ( Process) แปรรูปทรัพยากรที่นำเข้าให้เป็นผลผลิตตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายขององค์การต่อไป

OUTPUT คือเป้าหมาย ( Goals ) หรือ วัตถุประสงค์ ( Objectives ) ขององค์การ ที่นำออกมาจากกระบวนการแปรรูปในขั้นตอนที่สอง เป้าหมายขององค์การสามารถแบ่งหยาบได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ องค์การที่มีเป้าหมายที่มุ่งแสวงหากำไร ( Profit ) และองค์การที่มีเป้าหมายไม่มุ่งแสวงหากำไร ( Non – profit ) หรืออาจแบ่งเป็นองค์การที่วัตถุประสงค์เพื่อการผลิตสินค้า กับองค์การที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการ ( Services ) ก็ได้

;;

บทความที่ได้รับความนิยม