การนำ (Leading)
วิโรจน์ สารรัตนะ (2546, หน้า 151) กล่าว่า ผู้นำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความพยายามให้มีอิทธิพลต่อผู้อื่น เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุจุดหมายขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งต้องประกอบด้วย การจูงใจ ภาวะผู้นำ การติดต่อสื่อสารทางการบริหาร และการบริหารกลุ่ม โดยที่ผู้บริหารจะต้องจูงใจให้คนทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้บรรลุความสำเร็จขององค์การเท่าที่จะทำได้ สำหรับภารดี อนันต์นาวี (2551, หน้า 77) ได้เพิ่มเติมว่า ผู้นำเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับของกลุ่มและมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่ม โดยอาศัยอำนาจหน้าที่หรือการกระทำของตนในการชักจูงหรือชี้นำสมาชิกให้ปฏิบัติตาม
Robbins and Coulter (2003, p. 206) Draft (2003, p. 5) กล่าวว่า ผู้นำ หมายถึงผู้ที่มีอิทธิพลและสามารถใช้ศิลปะจูงใจให้ผู้อื่นคิดตาม หรือ ปฏิบัติตาม ส่วนความเป็นผู้นำ คือ กระบวนการที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่ม Draft ได้ให้ข้อจำกัดความที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นความสัมพันธ์ของผู้นำ และผู้ตาม ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ
Robbins (1998, pp. 9-10, 294) กล่าวว่า การเป็นผู้นำ คือ การเป็นผู้ให้คำแนะนำ และนิเทศ ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้วางแผนไว้ โดยพื้นฐานแล้ว การเป็นผู้นำประกอบด้วย การนิเทศงาน การจูงใจ การนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การติดต่อสื่อสาร และการขจัดความขัดแย้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
การนิเทศงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนมีความจำเป็นและคาดหวังที่จะได้รับการนิเทศ ซึ่งการนิเทศเป็นการสังเกตการทำงานของบุคลากรและเงื่อนไขการทำงานต่าง ๆ เพื่อที่จะมั่นใจว่างานนั้นจะบรรลุเป้าหมายที่ขององค์การที่ได้ตั้งไว้
การจูงใจ เป็นเรื่องของความเต็มใจที่จะกระทำบางสิ่งบางอย่างซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับการตอบสนองความพอใจส่วนบุคคล
การนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีบทบาทนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงผู้นำเป็นผู้ริเริ่มความคิด หรือจูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปสู่การเปลี่ยนแปลง Robbins and Coulter (2003, pp. 143-144) กล่าวถึงการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงว่า การเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบทางลบ หรือแม้อาจจะกระทบในทางบวกต่อคนในองค์การ แต่เมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมักจะมีการต่อต้านเสมอ สาเหตุก็คือ การเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เกิดสูญเสียผลประโยชน์หรือสูญเสียสภาพเดิม รวมทางความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่สอดคล้องกับเป้าหมายและผลประโยชน์ขององค์การ ผู้บริหารสามารถลดการต่อต้านด้วยการให้ความรู้ ด้วยการสื่อสารให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทราบ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนรวมในการตัดสินใจ ให้ความสะดวก การสนับสนุนต่าง ๆ แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น การฝึกอบรม เป็นต้น
การติดต่อสื่อสาร หมายถึง การถ่ายทอดสารและความเข้าใจสารที่ส่งออกมาอย่างถูกต้อง ตรงกัน
การขจัดความขัดแย้ง ซึ่ง Robbins and Coulter (2003, pp. 167-174) Robbins (1998, pp. 362, 422-425) กล่าวว่า ความขัดแย้ง เกิดขึ้นเมื่อแต่ละคนมาพบกัน หรือรวมกลุ่มกัน ซึ่งอาจเพราะถูกมอบหมายงาน หรือมารวมกันด้วยจุดมุ่งหมายหรือผลประโยชน์ร่วมกันอย่างอื่น และเกิดความคิดความเห็นต่อการดำเนินงานของกลุ่ม รวมทั้งความขัดแย้งในพฤติกรรมของบุคคลและของผู้นำ ดังนั้นเมื่อบุคคลหลาย ๆ คนมารวมกลุ่มกันในการปฏิบัติงานใด ๆ ก็ตาม ความขัดแย้งมักเกิดขึ้นได้เสมอ ความขัดแย้งเป็นเรื่องของความรู้สึกหรือการรับรู้ว่าเกิดความไม่เท่าเทียมกันหรือ
ความไม่สอดคล้องกันของความคิด ความขัดแย้งอาจเกิดจาก การปฏิบัติงานและเป้าหมายของงาน หรืออาจเกิดจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรือความขัดแย้งเกิดจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ผู้บริหารมีหน้าบริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์การ เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมายขององค์การ
กล่าวโดยสรุป การนำ (Leading) เป็นการที่ผู้บริหารใช้ภาวะผู้นำ (Leadership) ในการ ชักจูงและส่งเสริมให้บุคคลผู้อื่นปฏิบัติตามที่ตนต้องการ เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุจุดหมายขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล