INPUT คือทรัพยากรการบริหาร ( Management resources ) อันได้แก่ 4 M’s ประกอบด้วย คน ( Man ) เงิน ( Money ) วัตถุดิบ ( Material ) และวิธีการ / จัดการ ( Method / Management ) ถูกนำเข้าในระบบเพื่อการประมวลผลหรือการบริการที่เติบโตและ
พัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมกับอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการที่เติบโตและพัฒนาขึ้นไปอย่างรวดเร็วทำให้ทรัพยากรเพียง 4 ประการเริ่มไม่เพียงพอสำหรับเป้าหมาย จึงได้เพิ่มขึ้นอีก 2 M’s เป็น 6 M’s ได้แก่ เครื่องจักรกล ( Machine ) และ การตลาด ( Market ) ในขณะเดียวกันการทำงานที่มองเห็นถึงความสำคัญ หรือคุณค่าของจิตใจของผู้ปฏิบัติงานมีมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของคนงานมากขึ้น จึงเพิ่มขวัญและกำลังใจ ( Morale ) เข้าไปเป็น 7 M’s และเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ( Globalization ) ระบบการสื่อสารไร้พรหมแดนที่ติดต่อเชื่อมโยงกันเป็นระบบเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลกทำให้การติดต่อสื่อสารรวดเร็วใครไม่รู้หรือไม่มีข้อมูลย่อมเสียเปรียบในเชิงธุรกิจจึงได้เพิ่ม ข้อมูลข่าวสาร ( Message ) เข้าไปในทรัพยากรกระบวนการผลิต รวมเป็น 8 M’s ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุดตราบเท่าที่ระบบอุตสาหกรรมการผลิตการจัดจำหน่ายและการบริการยังคงพัฒนาและก้าวไปไม่หยุดยั้ง
PROCESS คือ หน้าที่หรือกิจกรรมขั้นพื้นฐานที่ผู้บริหารต้องกระทำ ในปัจจุบันยึดถือหน้าที่ 4 ประการได้แก่ POLC การวางแผน ( Planning ), การจัดองค์การ ( Organizing ), การชี้นำ ( Leading ) และ การควบคุม ( Controlling ) ซึ่งมีพัฒนาการของแนวคิดมาตั้งแต่สมัยของ ฟาโย ( Henri Fayol )ปี 1916 ที่เห็นว่าหน้าที่การจัดการ ประกอบด้วย POCCC ได้แก่ การวางแผน ( Planning ), การจัดองค์การ ( Organizing ), การสั่งการ ( Commanding ), การประสานงาน ( Coordinating ), การควบคุม ( Controlling ) ต่อมาในปี 1937 กูลิกและเออร์วิก ( Gulick และ Urwick ) เห็นว่ากระบวนการจัดการประกอบด้วย การวางแผน ( Planning ), การจัดองค์การ ( Organizing ), การจัดคนเข้าทำงาน ( Staffing ), การอำนวยการ ( Directing ), การประสานงาน (Coordinating ), การรายงานผล ( Reporting ) และ การงบประมาณ ( Budgeting ) ซึ่งนิยม เรียกย่อว่า POCDCORB ครั้งเมื่อเข้าปี 1972 แฮร์โรลด์ คูนตซ์ ( Harold D. Koontz ) มีความเห็นว่าหน้าที่ทางการจัดการคือ POSDC ได้แก่การวางแผน ( Planning ), การจัดองค์การ ( Organizing ), การจัดคนเข้าทำงาน ( Staffing ),การอำนวยการ ( Directing ) และการควบคุม ( Controlling )ซึ่งแนวความคิดของเขาเปลี่ยนแปลงไปชัดเจน โดยในปี 1988 คูนตซ์และเวียห์ริช ( Koontz และ Weihrich )เขียนตำราใช้ชื่อว่า Management ร่วมกันและได้เปลี่ยนหน้าที่ทางการจัดการจากตัว D ( Directing ) เป็น L ( Leading ) พัฒนาด้านแนวคิดดังกล่าวยังคงก้าวต่อไปไม่หยุดยั้ง บางทีในยุคหน้าเราอาจเห็นหน้าที่การจัดการที่เหลืออักษรเพียงตัวเดียวหรือสองตัวเท่านั้นก็เป็นได้ ดังนั้นอาจสรุปหน้าที่หรือกิจกรรมขั้นพื้นฐานทางการจัดการได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการ ( Process) แปรรูปทรัพยากรที่นำเข้าให้เป็นผลผลิตตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายขององค์การต่อไป
OUTPUT คือเป้าหมาย ( Goals ) หรือ วัตถุประสงค์ ( Objectives ) ขององค์การ ที่นำออกมาจากกระบวนการแปรรูปในขั้นตอนที่สอง เป้าหมายขององค์การสามารถแบ่งหยาบได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ องค์การที่มีเป้าหมายที่มุ่งแสวงหากำไร ( Profit ) และองค์การที่มีเป้าหมายไม่มุ่งแสวงหากำไร ( Non – profit ) หรืออาจแบ่งเป็นองค์การที่วัตถุประสงค์เพื่อการผลิตสินค้า กับองค์การที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการ ( Services ) ก็ได้