Custom Search

MBA Holiday

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การนำ (Leading)
         วิโรจน์ สารรัตนะ (2546, หน้า 151) กล่าว่า ผู้นำ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความพยายามให้มีอิทธิพลต่อผู้อื่น เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุจุดหมายขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งต้องประกอบด้วย การจูงใจ ภาวะผู้นำ การติดต่อสื่อสารทางการบริหาร และการบริหารกลุ่ม โดยที่ผู้บริหารจะต้องจูงใจให้คนทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้บรรลุความสำเร็จขององค์การเท่าที่จะทำได้ สำหรับภารดี อนันต์นาวี (2551, หน้า 77) ได้เพิ่มเติมว่า ผู้นำเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับของกลุ่มและมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่ม โดยอาศัยอำนาจหน้าที่หรือการกระทำของตนในการชักจูงหรือชี้นำสมาชิกให้ปฏิบัติตาม

         Robbins and Coulter (2003, p. 206) Draft (2003, p. 5) กล่าวว่า ผู้นำ หมายถึงผู้ที่มีอิทธิพลและสามารถใช้ศิลปะจูงใจให้ผู้อื่นคิดตาม หรือ ปฏิบัติตาม ส่วนความเป็นผู้นำ คือ กระบวนการที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่ม Draft ได้ให้ข้อจำกัดความที่ชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นความสัมพันธ์ของผู้นำ และผู้ตาม ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ

        Robbins (1998, pp. 9-10, 294) กล่าวว่า การเป็นผู้นำ คือ การเป็นผู้ให้คำแนะนำ และนิเทศ ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้วางแผนไว้ โดยพื้นฐานแล้ว การเป็นผู้นำประกอบด้วย การนิเทศงาน การจูงใจ การนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การติดต่อสื่อสาร และการขจัดความขัดแย้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

        การนิเทศงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนมีความจำเป็นและคาดหวังที่จะได้รับการนิเทศ ซึ่งการนิเทศเป็นการสังเกตการทำงานของบุคลากรและเงื่อนไขการทำงานต่าง ๆ เพื่อที่จะมั่นใจว่างานนั้นจะบรรลุเป้าหมายที่ขององค์การที่ได้ตั้งไว้

         การจูงใจ เป็นเรื่องของความเต็มใจที่จะกระทำบางสิ่งบางอย่างซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับการตอบสนองความพอใจส่วนบุคคล

         การนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีบทบาทนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงผู้นำเป็นผู้ริเริ่มความคิด หรือจูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปสู่การเปลี่ยนแปลง Robbins and Coulter (2003, pp. 143-144) กล่าวถึงการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงว่า การเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลกระทบทางลบ หรือแม้อาจจะกระทบในทางบวกต่อคนในองค์การ แต่เมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมักจะมีการต่อต้านเสมอ สาเหตุก็คือ การเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เกิดสูญเสียผลประโยชน์หรือสูญเสียสภาพเดิม รวมทางความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่สอดคล้องกับเป้าหมายและผลประโยชน์ขององค์การ ผู้บริหารสามารถลดการต่อต้านด้วยการให้ความรู้ ด้วยการสื่อสารให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทราบ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนรวมในการตัดสินใจ ให้ความสะดวก การสนับสนุนต่าง ๆ แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น การฝึกอบรม เป็นต้น

         การติดต่อสื่อสาร หมายถึง การถ่ายทอดสารและความเข้าใจสารที่ส่งออกมาอย่างถูกต้อง ตรงกัน
        
         การขจัดความขัดแย้ง ซึ่ง Robbins and Coulter (2003, pp. 167-174) Robbins (1998, pp. 362, 422-425) กล่าวว่า ความขัดแย้ง เกิดขึ้นเมื่อแต่ละคนมาพบกัน หรือรวมกลุ่มกัน ซึ่งอาจเพราะถูกมอบหมายงาน หรือมารวมกันด้วยจุดมุ่งหมายหรือผลประโยชน์ร่วมกันอย่างอื่น และเกิดความคิดความเห็นต่อการดำเนินงานของกลุ่ม รวมทั้งความขัดแย้งในพฤติกรรมของบุคคลและของผู้นำ ดังนั้นเมื่อบุคคลหลาย ๆ คนมารวมกลุ่มกันในการปฏิบัติงานใด ๆ ก็ตาม ความขัดแย้งมักเกิดขึ้นได้เสมอ ความขัดแย้งเป็นเรื่องของความรู้สึกหรือการรับรู้ว่าเกิดความไม่เท่าเทียมกันหรือ
ความไม่สอดคล้องกันของความคิด ความขัดแย้งอาจเกิดจาก การปฏิบัติงานและเป้าหมายของงาน หรืออาจเกิดจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรือความขัดแย้งเกิดจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ผู้บริหารมีหน้าบริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในองค์การ เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมายขององค์การ

          กล่าวโดยสรุป การนำ (Leading) เป็นการที่ผู้บริหารใช้ภาวะผู้นำ (Leadership) ในการ ชักจูงและส่งเสริมให้บุคคลผู้อื่นปฏิบัติตามที่ตนต้องการ เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุจุดหมายขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

การจัดองค์การ (Organizing)
        การจัดองค์การเป็นหน้าที่ทางการบริหารที่สืบเนื่องจากการวางแผน เมื่อองค์การจัดทำเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ขององค์การและแผนกลยุทธ์แล้ว ผู้บริหารต้องออกแบบโครงสร้างองค์การเพื่อให้การบริหารบรรลุเป้าหมาย

        ธงชัย สันติวงษ์ (2546, หน้า 216) กล่าวว่า การจัดองค์การ คือ หน้าที่งานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบ เพื่อให้สิ่งของและบุคคลผู้เข้ามาอยู่ในองค์การสามารถทำงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นประโยชน์ต่องานที่จะมีการประสานกันทำเป็นทีม

         วรนารถ แสงมณี (2544, หน้า 3-2) ได้ให้ความหมายของการจัดองค์การ หมายถึง “ความพยายามของผู้บริหารในการกำหนดแนวทางโครงสร้างองค์การ โดยใช้กระบวนการต่าง ๆ ในการสนับสนุนให้การดำเนินงานสามารถประสบความสำเร็จได้ตามที่วางแผนงานไว้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้มักประกอบด้วยความสัมพันธ์พื้นฐาน 3 ประการ คือ ความรับผิดชอบ อำนาจหน้าที่ และความพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ”

         ศิริวรรณ เสรีรัตน์ และคณะ (2539, หน้า 139) กล่าวว่า การจัดองค์การ คือ กระบวนการที่กำหนด กฎ ระเบียบ แบบแผน ในการปฏิบัติงานขององค์การซึ่งรวมถึงวิธีการทำงานร่วมกัน

         กิติมา ปรีดีดิลก (2532, หน้า 26) กล่าวว่า “การจัดองค์การเป็นเทคนิคพื้นฐานการบริหารอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดโครงสร้างขององค์การนั้น ๆ ขึ้นมา เป็นการช่วยให้ทราบถึงตำแหน่งหน้าที่ สถานะและการควบคุมบังคับบัญชาอย่างกว้าง ๆ ทำให้สามารถจัดโครงสร้างเหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายวัตถุประสงค์ขององค์การ”

         Robbins and Coulter (2003, p. 101) Stoner and Wankle (1986, pp. 221-222) Dessler (2004, p. 139) Koontz and Weihrich (1990, p. 134) ได้ให้ความหมายของการจัดองค์การ คือ กระบวนการในการจัดโครงสร้างขององค์การ ซึ่งครอบคลุมเรื่องการแบ่งงานการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้ผู้ปฏิบัติงาน การกำหนดกลุ่มงาน การกำหนดความสัมพันธ์ในสายการบังคับบัญชาและการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ การจัดองค์การจึงครอบคลุมการจัดงาน จัดคน และวัตถุประสงค์ของทั้งหมดขององค์การ

         Robbins (1998, p. 8, pp. 194-205) กล่าวว่า การจัดองค์การ หมายถึง การแบ่งงานหรือการมอบหมายงาน การกำหนดช่วงการบริหารหรือโครงสร้างขององค์การ การกำหนดกลุ่มงาน การประสานงาน และเอกภาพในการบังคับบัญชา โดยมีรายละเอียดดังนี้

         การแบ่งงานหรือการมอบหมายงานด้วยสาเหตุ 2 ประการ กล่าวคือ ความซับซ้อนของงานไม่มีผู้ใดสามารถกระทำทุกอย่างได้ภายใต้ขอบเขตอันจำกัดของร่างกาย และ ความจำกัดของความรู้ในงานด้านต่าง ๆ บางงานต้องใช้ทักษะขั้นสูง ถ้าไม่มีความชำนาญก็ไม่สามารถจะทำงานนั้น ๆ ได้

          การกำหนดช่วงการบริหาร ซึ่งหมายถึง จำนวนผู้ใต้บังคับบัญชาที่ผู้บริหารสามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          การกำหนดกลุ่มงาน ทุกองค์การต้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติโดยบุคคลที่มีความสามารถแตกต่างกันเฉพาะงาน และบุคคลเหล่านั้นต้องประสานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เนื่องจากความสามารถที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีกลุ่มเพื่อจะติดต่อประสานงาน เชื่อมโยงกิจกรรมของกลุ่มต่าง ๆ เราเรียกว่า ฝ่ายหรือแผนก โดยพิจารณาจากจำนวนคนของแต่ละแผนกหรือฝ่าย ภาระหน้าที่ ผลผลิตหรือบริการลูกค้า ภูมิศาสตร์หรือกระบวนการทำงาน

          การประสานงาน หมายถึง การร่วมกันในการปฏิบัติภารกิจขององค์การให้บรรลุเป้าหมาย โดยผู้บริหารเป็นผู้กำหนดความสัมพันธ์ต่าง ๆ เพื่อให้ภารกิจขององค์การบรรลุประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

           เอกภาพในการบังคับบัญชา ความเป็นเอกภาพของหน่วยงานมีความสำคัญ เพราะหากองค์การใดไม่มีเอกภาพ ไม่ยึดถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าไม่มีการกำหนดผู้บังคับบัญชาที่ชัดเจน ย่อมเกิดความสับสนของผู้ใต้บังคับบัญชาและความขัดแย้งจะเกิดขึ้นในองค์การ

          นอกจากนั้น Robbins (1998, p. 112) ยังได้เสนอแนวคิดว่า องค์ประกอบโครงสร้างองค์การมี 3 ประการ คือ
          1. ความซับซ้อน ซึ่งหมายรวมไปถึงการจำแนกแยกแยะงานหรือภารกิจต่าง ๆ ให้ชัดเจน หรือแบ่งงานกันทำ การจัดแผนก และการจัดชั้นสายการบังคับบัญชาขององค์การ
          2. การสร้างแบบมาตรฐาน หมายถึง การที่องค์การใดองค์การหนึ่งกำหนดมาตรฐาน หรือ กฎระเบียบต่าง ๆ และนำมาตรฐานหรือกฎระเบียบเหล่านั้นไปใช้ในการนำ หรือ การควบคุมพฤติกรรมของบุคลากรของตนให้ดำเนินไปในทิศทางที่ต้องการ
         3. การรวมศูนย์อำนาจ หมายถึง การรวมอำนาจการตัดสินใจไว้ที่ศูนย์กลางแห่งอำนาจภายในองค์การ เพื่อให้การตัดสินใจ สั่งการต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

         โครงสร้างองค์การทั้ง 3 ประการ เห็นได้ชัดในองค์การแบบราชการ กล่าว คือ องค์การดังกล่าวมีการจัดแผนกหรือหน่วยงานต่าง ๆ ตามภารกิจ และจัดสรรบุคลากรเข้าทำงานในแผนกหรือหน่วยงานนั้น ๆ ตามความชำนาญพิเศษ และมีการกำหนดมาตรฐาน หรือ กฎระเบียบ ตลอดจนกระบวนการต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรของตน และการตัดสินใจขององค์การมักจะเป็นแบบจากบนสู่ล่างตามลำดับชั้นการบังคับบัญชา การตัดสินใจที่สำคัญที่สุดจะกระทำโดยผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น

          ในองค์การแบบราชการ มีการวางนโยบายและเป้าหมายไว้อย่างกระจ่างชัด ตำแหน่งต่าง ๆ ถูกจัดวางตามลำดับชั้น การบังคับบัญชาแบบปิรามิด ผู้ที่ได้รับการเลื่อนสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในองค์การจะมีอำนาจมากขึ้น อำนาจอยู่ที่ตำแหน่งมากกว่าอยู่ที่ตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนั้น การคัดสรรบุคลากรมีพื้นฐานอยู่บนคุณสมบัติต่าง ๆ ที่องค์การต้องการ เป็นต้นว่า การศึกษาและประสบการณ์การทำงาน โดยเฉพาะการศึกษาและประสบการณ์ในด้านที่ตรงกับตำแหน่งงาน (Robbins, 1998, pp. 194-195)

;;

บทความที่ได้รับความนิยม