คำถาม
1. อะไรคือข้อสังเกตของผู้เขียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ตนเองของคนทำงาน?
การวิเคราะห์ตนเองของคนทำงาน ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือเพื่อการพัฒนาบุคลิกภาพ แต่ในสภาวะเศรษฐกิจที่พึ่งพิงความรู้เช่นในปัจจุบันนี้ การวิเคราะห์ตนเองเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับความอยู่รอดเลยทีเดียว ความสำเร็จจะตกเป็นของผู้ที่รู้จักตัวเอง รู้จักจุดแข็ง รู้จักค่านิยมของตนเอง และรู้จักวิธีการทำงานที่เขาทำได้ดีที่สุด
ผู้เขียนได้เสนอวิธีการอะไรบ้างที่ช่วยให้ผู้อ่านเรียนรู้จุดแข็งของตนเอง
ใช้วิธี “Feedback Analysis” การวิเคราะห์ผลป้อนกลับ
เมื่อใดก็ตามที่คุณทำการตัดสินใจครั้งสำคัญ หรือ ปฏิบัติงานสำคัญๆ ให้บันทึกไว้ด้วยว่าคุณคาดหวังจะได้รับผลอย่างไร หลังจากนั้นประมาณ 9 - 12 เดือน ให้เปรียบเทียบผลงานจริงกับสิ่งที่คุณคาดหวังไว้ ซึ่งจะทำให้คุณทราบว่า คุณทำผลงานชิ้นไหนได้ดี ตรงไหนที่เป็นจุดแข็งของคุณ
โดยวิธีการนี้จะบอกคุณว่าคุณกำลังทำอะไร หรือ ล้มเหลวที่จะทำอะไรซึ่งจะกีดกันคุณจากผลประโยชน์สูงสุดที่คุณจะได้จากจุดแข็งของคุณ วิธีการนี้จะแสดงให้คุณเห็นว่าตรงไหนที่คุณไม่มีความสามารถเฉพาะ รวมทั้งจะบอกคุณว่าตรงไหนที่ไม่ใช่จุดแข็ง และ ไม่สามารถสร้างผลงานได้
การเรียนรู้ดังกล่าวให้ประโยชน์แก่ตนเองอย่างไร?
- สามารถพุ่งเป้าไปที่จุดแข็งของตนเอง เพื่อสร้างผลงานให้ดี และเกิดประสิทธิผลสูงสุด
- สามารถพัฒนาทักษะและเติมเต็มความรู้ที่ขาดหาย เพื่อปรับปรุงจุดแข็งที่มีอยู่
- สามารถทราบจุดอ่อน เพื่อแก้ไข เช่น นิสัย กริยามารยาทที่ไม่ดี การขาดความเอื้อเฟื้อต่อกัน เพื่อลดอุปสรรคที่มีต่อประสิทธิผลของผลงาน
- เพื่อหลีกเลี่ยงการทุ่มเททำงานที่ตนเองไม่มีทักษะความชำนาญ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปล่าด้านเวลาและแรงงาน
2. ผู้เขียนมีข้อสังเกตอะไรบ้างเกี่ยวกับการประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ และผลสำเร็จจากการทำงานของตนเอง
พฤติกรรมการเรียนรู้มีหลากหลายวิธีที่แตกต่างกัน เช่น
การเรียนรู้ในห้องเรียน โดยการฟังหรือการอ่าน เช่น นักเรียนทั่วไป
การเรียนรู้โดยการเขียน เช่น เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล, บีโธเฟน
การเรียนรู้โดยการลงมือทำ
การเรียนรู้โดยการฟังตัวเองพูด
และอื่นๆ
แต่ละคนจะสามารถประเมินพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเองได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ การนำสิ่งที่เรียนรู้ได้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
คุณต้องเรียนรู้ด้วยว่า คุณเก่งในการทำงานแบบ one-man show หรือ team work เพื่อที่จะรับตำแหน่งที่เหมาะสมกับความเก่ง หรือจุดแข็งของคุณเท่านั้น มิฉะนั้นการทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ไม่มีทักษะ และเป็นจุดอ่อนจะทำให้เกิดความล้มเหลวในหน้าที่การงานได้ง่าย เนื่องจากไม่มีใครที่จะสามารถสร้างผลงานได้จากจุดอ่อนของตนเอง
คุณต้องเรียนรู้อีกว่า คุณเหมาะสมกับตำแหน่งที่ปรึกษา หรือ ตำแหน่งผู้ตัดสินใจ หากคุณประเมินความสามารถของตัวเองผิดพลาด คุณจะไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้เลย หากคุณมีตำแหน่งผู้นำ แต่ไม่กล้าตัดสินใจ คุณจะหล่นจากตำแหน่งทันที
โดยสรุป ผลสำเร็จจากการทำงานมาจากการรู้จักตนเองในด้านต่างๆ เช่น
รู้จักตนเองว่ามีลักษณะการทำงานเป็นแบบเดี่ยวหรือทีม
รู้จักตนเองว่าเป็นผู้นำที่ดีหรือผู้ตามที่ดี
รู้จักตนเองว่าเป็นที่ปรึกษาที่ดี หรือผู้ตัดสินใจที่ดี
รู้จักตนเองว่าสามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ดีหรือไม่
รู้จักตนเองว่าทำงานได้ดีในองค์กรเล็กหรือองค์กรใหญ่
แล้วพยายามพัฒนาตนเองไปในทิศทางที่คุณถนัดและมีความสามารถ
เมื่อบุคคลรู้จักจุดแข็งของตนเอง วิธีการทำงานของตนเอง และค่านิยมของตนเองแล้ว การเรียนรู้ว่าตนเองเหมาะสมกับตรงไหน จะทำให้เราพัฒนาตนเองไปถูกทางและเสียเวลาน้อยที่สุด
คำกล่าวที่ว่า “Do not try to change yourself – you are unlikely to succeed “ หมายความว่าอย่างไร
Do not try to change yourself – you are unlikely to succeed หมายความว่า
“จงอย่าพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง เพราะคุณจะไม่มีทางประสบผลสำเร็จ”
ด้วยเหตุที่ว่า วิธีการในการปฏิบัติงานของคนสามารถปรับเปลี่ยนได้บ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ทั้งหมด และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วย
ผู้คนมักจะประสบผลสำเร็จในการทำสิ่งที่เขาเก่ง/ถนัด ด้วยวิธีการทำงานที่เขาทำได้ดีที่สุด เนื่องจากจุดแข็งที่แต่ละคนมี เป็นเรื่องของการสั่งสมพัฒนามาเป็นเวลาช้านานก่อนก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงาน จึงเป็นนิสัย และเอกลักษณ์ของแต่ละคน ซึ่งได้หล่อหลอมให้คนทำในสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดแล้ว
หากคุณพยายามจะเปลี่ยนแปลงตนเอง ย่อมเป็นเรื่องยากแน่นอน มิหนำซ้ำยังนำมาซึ่งความล้มเหลวและการสูญเสียทรัพยากรต่างๆ โดยเปล่าประโยชน์ คุณควรจะมุ่งมั่นพยายามอย่างหนักในการพัฒนาตนเองในหนทางที่ตนเองปฏิบัติอยู่
3. ค่านิยม คือ อะไร?
ค่านิยมคือ สิ่งที่เป็นพฤติกรรมที่มีจริยธรรมในองค์กรหนึ่งหรือสถานการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มีจริยธรรมในที่อื่นๆด้วย
ค่านิยมมีความสำคัญอย่างไรต่อบุคคลและต่อองค์กรธุรกิจ?
ค่านิยมมีความสำคัญต่อบุคคลและต่อองค์กรธุรกิจดังนี้ หากค่านิยมส่วนบุคคลไม่สอดคล้องกับค่านิยมขององค์กรแล้ว ก็จะทำให้บุคคลไม่มีความสุขในการทำงาน เกิดความขุ่นข้องหมองใจ และทำให้ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ซึ่งส่งผลให้ผลงานแย่ลง เช่น ค่านิยมระหว่างความสัมพันธ์ของบุคคลกับองค์กร, ความแตกต่างเรื่องความรับผิดชอบขององค์กรต่อบุคลากรและพัฒนาการ, การอุทิศทุ่มเทตนให้แก่องค์กร
หากค่านิยมส่วนบุคคลกับค่านิยมขององค์กรสอดคล้องต้องกันแล้ว ก็จะช่วยสนับสนุนความกระตือรือร้นและการทุ่มเทในการทำงานให้กับบุคคลนั้น ซึ่งส่งผลต่อผลงานที่ดีขึ้น
ท่านเห็นว่าค่านิยมที่แต่ละบุคคลยึดถือมีผลอย่างไรต่อความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ และ การมีส่วนร่วมต่อความสำเร็จขององค์กร (Contribution)?
องค์กรก็เหมือนกับบุคคล มีค่านิยมเช่นกัน ค่านิยมของบุคคลกับค่านิยมขององค์กร ต้องใกล้กันมากพอเพื่อให้บุคคลที่ทำงานไม่รู้สึกอึดอัด ซึ่งทำให้บุคคลสามารถสร้างผลงานที่ดีได้ ทำให้บุคคลเกิดความรู้ความเข้าใจ มีพัฒนาการทางความคิด และ เกิดความพอใจในการทำงาน ทำให้บุคคลเต็มใจทุ่มเทการทำงานให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เนื่องจากมีค่านิยมในทางเดียวกัน มีความรู้สึกเป็นฝ่ายเดียวกัน และทำให้บุคคลกล้าเสนอความคิดใหม่ๆ ซึ่งน่าจะเป็นที่รับได้ขององค์กร เนื่องจากทราบว่าค่านิยมของตนเองและค่านิยมขององค์กรสอดคล้องกัน
4. ผู้เขียนมีข้อแนะนำประการใดบ้างในการสร้างความสัมพันธ์และความรับผิดชอบต่อผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน?
ข้อแนะนำในการสร้างความสัมพันธ์และความรับผิดชอบต่อผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน มีดังนี้
- เราต้องยอมรับว่า แต่ละบุคคลมีความเป็นปัจเจกชน ต่างคนก็มีจุดแข็ง มีวิธีปฏิบัติงาน และมีค่านิยมที่แตกต่างกัน สิ่งนี้หมายความว่า คนอื่นๆก็มีจุดแข็ง มีวิธีการอื่นๆที่จะทำงานให้สำเร็จ และมีค่านิยมของเขาเช่นกัน เพื่อประสิทธิผลของงานคุณต้องรู้จุดแข็ง รูปแบบการปฏิบัติงาน และค่านิยมของเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ลูกน้อง และ คนอื่นๆในทีม เพื่อ
เข้าใจผู้คนที่คุณทำงานด้วย ดังนั้นคุณจะสามารถใช้จุดแข็งของคนเหล่านั้น วิธีการทำงาน และค่านิยมของเขาทั้งหลายได้ ความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน เป็นเรื่องของคนซึ่งสำคัญพอๆกับเรื่องของงานทีเดียว
- เราต้องมีการสื่อสารระหว่างคนที่เราทำงานด้วย เราต้องรู้ว่าคนอื่นกำลังทำอะไรอยู่ และทำด้วยวิธีการแบบไหน เขาสนใจทุ่มเทในเรื่องอะไร และคาดหวังผลลัพธ์อย่างไร อีกทั้งเรายังต้องสื่อสารบอกส่วนของเราให้พวกเขาทราบด้วย
ความสัมพันธ์และความรับผิดชอบต่อผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน จะช่วยให้ท่านมีส่วนในความสำเร็จขององค์กรได้
การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ การรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์เป็นหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เรา ต้องรับผิดชอบความสัมพันธ์ต่อเพื่อนร่วมงานทุกคนที่เราต้องไปพึ่งพิง (ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นสมาชิกขององค์กรหรือไม่ จะเป็นที่ปรึกษาขององค์กร เป็นซัพพลายเออร์ หรือ ดิสทริบิวเตอร์ ก็ตาม) เช่นเดียวกันกับที่ทุกคนต้องพึ่งพิงงานของเราด้วย
เนื่องจากการสร้างองค์กรไม่ได้เกิดจากผลบังคับของกฏหมายอีกต่อไป แต่เกิดจากความเชื่อใจกัน การคงอยู่ของความไว้ใจระหว่างผู้คนไม่ได้หมายความว่า แต่ละคนต้องชอบกัน แต่หมายความว่า แต่ละคนเข้าใจซึ่งกันและกัน
5. ผู้เขียนได้ให้คำแนะนำอะไรบ้างเกี่ยวกับการเตรียมตัวเข้าสู่ “ครึ่งหลัง” ของชีวิต? ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้วยความรู้ (Knowledge Worker) ท่านสามารถใช้จุดแข็งให้เกิดผลสำเร็จในชีวิตได้อย่างไร
ผู้เขียนได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวเข้าสู่ “ครึ่งหลัง” ของชีวิต ดังนี้
ด้านวิกฤตช่วงกลางวัยของผู้บริหาร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความเบื่อหน่าย
เมื่ออายุประมาณ 45 ปี ผู้บริหารส่วนใหญ่มักมาถึงจุดสูงสุดของอาชีพแล้ว และเขาก็ทราบถึงสิ่งนี้ หลังจากการทำงาน 20 ปีที่ซ้ำเดิม พวกเขาก็จะเก่งกาจเรื่องงานเป็นอย่างมาก แต่ไม่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม ไม่ได้ทุ่มเท ไม่ได้รับความท้าทายหรือความพึงพอใจจากงาน อย่างไรก็ตามเขาก็ยังคงมีท่าทีว่าจะต้องทำงานต่อไปอีก 20 หรือ 25 ปี นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม การบริหารจัดการตัวเองที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคคลเริ่มต้นอาชีพที่สอง
การเตรียมตัวเข้าสู่ครึ่งหลังของชีวิต มีดังนี้
- การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ก่อนที่คุณจะเข้าสู่ครึ่งหลังของชีวิต
- การพัฒนาอาชีพที่สอง ด้วยวิธีการ 3 วิธี คือ
วิธีแรก : การลงมือเริ่มต้นทำบางอย่าง บ่อยครั้งที่สิ่งนี้คือการเปลี่ยนจากองค์กรประเภทหนึ่งไปสู่องค์กรอีกประเภทหนึ่ง
วิธีที่ 2 ที่จะเตรียมตัวเข้าสู่ครึ่งหลังของชีวิต คือ การพัฒนาอาชีพคู่ขนาน หลายคนที่ประสบผลสำเร็จในอาชีพที่ 1 ยังคงทำงานเดิมอยู่ ไม่ว่าจะทำเป็นงานประจำ งานพาร์ทไทม์ หรือที่ปรึกษาก็ตาม ในขณะเดียวกันเขาก็ทำงานอื่นคู่กันไปด้วย โดยส่วนใหญ่ทำงานให้แก่องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร
วิธีที่ 3 : การบุกเบิกงานด้านสังคม
- การเข้าสู่ความสนใจหลักด้านที่ 2 เกิดขึ้นได้ หากครอบครัวของคนๆ หนึ่ง เกิดการหย่าร้าง หรือสูญเสียคนที่รัก ในเวลาเช่นนั้น ความสนใจหลักด้านที่ 2 ซึ่งไม่ใช่แค่งานอดิเรก อาจจะทำให้เกิดสิ่งที่แตกต่างได้ เขาจะได้พบว่าถึงแม้ว่าเขาจะไม่ประสพความสำเร็จในชีวิตครอบครัว แต่ก็ยังมีชุมชนอื่นรองรับเขาอยู่ด้วยการทำกิจกรรมทางสังคม
ในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านความรู้ (Knowledge Worker) ท่านสามารถใช้จุดแข็งให้เกิดผลสำเร็จในชีวิตได้อย่างไร
ข้าพเจ้าในฐานะผู้ปฏิบัติงานด้านความรู้ ต้องรู้จักตนเอง รู้จักจุดแข็ง ของตนเองเป็นอย่างดี เพื่อนำมาพัฒนาการทำงานที่ข้าพเจ้ามีความสามารถเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงการทำงานที่ไม่มีความสามารถ ที่ไม่ใช่จุดแข็งของตนเอง และรู้จักสื่อสารจุดแข็งที่มีให้ทีมงานได้รับทราบ และในทางกลับกันก็ต้องทราบจุดแข็งของทีมงานด้วย พร้อมทั้งค้นหาอาชีพที่ 2, อาชีพคู่ขนาน, หรือกิจกรรมทางสังคม เพื่อเตรียมตัว ก่อนเข้าสู่ครึ่งหลังของชีวิต เพื่อเปิดโอกาสให้แก่ตัวเองได้มีกิจกรรมที่ไม่น่าเบื่อหน่าย และยังท้าทายต่อการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเป็นที่ผู้นำ การได้รับการยอมรับ นับถือ และประสบความสำเร็จ ในครึ่งหลังของชีวิต
เราต้องระลึกเสมอว่า ในปัจจุบันนี้ คนทำงานที่มีความรู้มีอายุยืนยาวกว่าองค์กร ดังนั้นคนทำงานที่มีความรู้ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่เสมอ