Custom Search

MBA Holiday

วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กลยุทธ์การสื่อสารตราสินค้าด้วยเครื่องมือการเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาด (brand communication strategy by sponsorship marketing tool)   
          การสื่อสารตราสินค้ามีเครื่องมือที่สำคัญเพื่อใช้ในการสื่อสาร (เช่น การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การขายโดยบุคคล การประชาสัมพันธ์ การตลาดทางตรง การจัดเหตุการณ์พิเศษ การเป็นผู้สนับสนุน เป็นต้น) ซึ่งมีการพัฒนาและส่งสารที่เกี่ยวกับตราสินค้า (แบรนด์) ทั้งนี้สิ่งต่าง ๆ ที่สื่อออกไปไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า บริการ ร้านค้า กิจกรรมและบุคคล ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน แต่โดยองค์รวมแล้วสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นก็คือ เรื่องของตราสินค้า (แบรนด์) นั่นเอง

การเป็นผู้สนับสนุนมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ประการ ได้แก่
          1. เป็นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ให้การสนับสนุน (เจ้าของตราสินค้า) กับผู้รับการสนับสนุน (เช่น การจัดแข่งขันกีฬา) โดยการให้ในรูปแบบของค่าตอบแทนกับการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เข้าไปเป็นผู้สนับสนุน
          2. เป็นเครื่องมือในการสื่อสารการตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาดยังมีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์กรในด้านต่าง ๆ เช่น ผู้บริโภครับรู้ตราสินค้า (แบรนด์) เพิ่มมากขึ้น มีการยกระดับภาพลักษณ์ของตราสินค้าให้สูงขึ้น และมูลค่าของยอดขายเพิ่มขึ้น เป็นต้น
       
          หากมองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและระดับจุลภาค และทำให้ธุรกิจหลายรายได้หยุดชะงัก ชะลอตัว หรือที่เลวร้ายที่สุดก็คือ การปิดกิจการลงไป แต่ทั้งนี้ยังมีบริษัทหลายแห่ง ได้ดำเนินการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมที่มากระทบต่อธุรกิจซึ่งแนวทางการตลาดได้ถูกกำหนดขึ้นในแผนการบริหารกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาในเรื่องของ ยอดขาย กำไร ส่วนแบ่งทางการตลาด ที่ลดลง

          ผู้บริหารด้านการตลาดได้หันมาให้ความสนใจในเรื่องของกลยุทธ์การสร้างตราสินค้า (แบรนด์) ด้วยเครื่องมือการสื่อสารการตลาดในกลุ่ม below the line (กลุ่มที่ใช้เงินลงทุนในการทำกิจกรรมต่ำ อาทิเช่น การจัดกิจกรรมพิเศษ การเป็นผู้สนับสนุน เป็นต้น) มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ อาทิเช่น สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงสามารถสร้างภาพลักษณ์และความรู้สึกที่ดี สร้างความจงรักภักดีต่อตราสินค้า ส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับตราสินค้า ใช้งบประมาณในการลงทุนน้อยกว่าเครื่องมือในกลุ่ม above the line (กลุ่มที่ใช้เงินลงทุนในการทำกิจกรรมสูง เช่น การผลิตชิ้นงานโฆษณาเพื่อลงในสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ โรงภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น) แต่ได้ผลตอบรับที่ได้มีความคุ้มค่ากับการลงทุน หนึ่งในจำนวนเครื่องมือที่ใช้สำหรับการสื่อสารตราสินค้าที่นับว่ามีประสิทธิภาพและได้รับการพัฒนารูปแบบและยุทธวิธีในการสื่อสารเครื่องมือดังกล่าวนี้ได้แก่การเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาด (sponsorship marketing)

          การเป็นผู้สนับสนุนทางการตลาดเป็นหนึ่งในส่วนประสมการตลาด (marketing mix) ในกลุ่มของการส่งเสริมการตลาดหรือการสื่อสารการตลาดนั่นเอง (promotion/marketing communication) โดยที่รูปแบบของการให้การสนับสนุนอาจจะอยู่ในรูปของการให้เงินสด สิ่งของสินค้าหรือบริการ การให้ความร่วมมือ การจัดการ การอำนวยความสะดวก การให้กำลังคนสนับสนุน เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายและการตกลงกันระหว่างผู้ให้และผู้รับ

0 Comments:

Post a Comment



บทความที่ได้รับความนิยม