Balance Scorecard (BSC) คืออะไร
Balance Scorecard (BSC) นั้นได้รับการพัฒนามาโดยตลอด ทำให้ภาพของ BSC จากเพียงเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อวัดและประเมินผลองค์กร ไปสู่การเป็นเครื่องมือเชิงระบบสำหรับการวางแผนและบริหารกลยุทธ์ (Strategic Planning) โดยผู้พัฒนาเครื่องมือนี้ (Norton และ Kaplan) ยืนยันหนักแน่นเป็นหนักหนาว่า ความสมดุล (Balance) ในการพัฒนาองค์กรนั้น สามารถวัด และประเมินได้จากการมองผ่านมุมมองของระบบการวัดและประเมินผลใน 4 ด้านหลัก คือ
มุมมองด้านการเงิน (Financial Perspective; F)
มุมมองด้านลูกค้า (Customer Perspective; C)
มุมมองด้านการดำเนินการภายใน (Internal Perspective; I)
มุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนาการ (Learning and Growth; L)
ดังนั้น BSC จึงเป็น
เสมือนเครื่องมือหรือกลไกในการวางแผนและบริหารกลยุทธ์ที่มีการกำหนดมุมมองทั้ง 4 ด้าน เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนาองค์กร จนบรรลุแผนกลยุทธ์ที่ได้วางไว้ในที่สุด
องค์กรนี้ควรใช้ BSC หรือยัง?
ถาม: ในฐานะที่ BSC เป็นเครื่องมือ / กลไกในการวางแผนกลยุทธ์ ดังนั้น หากองค์กรใดดำเนินการด้านการวางแผนและบริหารกลยุทธ์อยู่เดิม ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ BSC ใช่หรือไม่?
ตอบ: คำถามนี้คงต้องตอบว่าทั้ง "ใช่" และ "ไม่ใช่" เพราะการวางแผนและบริหารกลยุทธ์สามารถทำได้จากเครื่องมืออื่นอีกเป็นจำนวนไม่น้อย หากแต่ถ้าองค์กรประสงค์จะเติมเต็มช่องว่างในเรื่อง
- ความสมดุลและมุมที่ควรมองสำหรับองค์กร
- กลไกการผลักดัน การบรรลุกลยุทธ์อย่างเป็นรูปธรรม
- การวัด ติดตาม และประเมินผลอย่างเป็นระบบ
BSC ถือได้ว่าเป็นฐานที่ดีและง่ายต่อการนำไปใช้เพื่อลดช่องโหว่เหล่านั้นให้น้อยลง มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ถาม: ถ้าเช่นนั้นองค์กรที่ไม่เคยดำเนินการใดๆ ในเรื่องการวางแผนกลยุทธ์ ควรทำอย่างไร?
ตอบ: องค์กรในลักษณะนี้ตัดสินใจไม่ยาก โดยการเริ่มจากการตอบคำถาม 3 คำถามนี้ คือ
คำถามที่ 1: ท่านไม่แน่ใจว่า สถานะองค์กรอยู่ตรงไหน?
คำถามที่ 2: ท่านปรารถนาจะพัฒนาองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม?
คำถามที่ 3: ท่านปรารถนาจะทราบสถานะการพัฒนาขององค์กรอย่างต่อเนื่อง?
ถ้าคำตอบคือ
"ใช่" องค์กรของท่านถึงเวลาที่ควรใช้ BSC ในการช่วยตอบโจทย์เหล่านี้ได้แล้ว
ด้วยเหตุนี้จะพบว่า ไม่ว่าองค์กรแบบใด เคยหรือไม่เคยทำการวางแผนกลยุทธ์ ก็สามารถนำ BSC ไปใช้ได้ทั้งสิ้น หากจะแตกต่างกันในจุดการทำความเข้าใจและการพัฒนาติดตั้ง BSC ให้เหมาะสม เข้ากันได้กับองค์กรเสียมากกว่า
คำว่าสมดุล (Balance) ใน BSC หมายถึงอะไร
ด้วยเหตุที่หลายครั้งผู้พัฒนาและติดตั้ง BSC ในแต่ละองค์กรนั้น มุ่งแต่จะพยายามเติมเต็มมุมมองการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน (C-L-I-F) เท่านั้น โดยละเลยประเด็นที่ว่า แม้ว่าจะทำให้ทั้ง4 มุมมองนั้นครบถ้วน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความสมดุลตามความมุ่งหมายของ BSC จะเกิดขึ้นได้
ความสมดุลนี้พึงต้องระลึกไว้อยู่เสมอในขณะพัฒนาและติดตั้ง BSC ว่า ความสมดุลตามความมุ่งมาดคาดหมายของ BSC คือ ความสมดุล (Balance) ระหว่าง
- จุดมุ่งหมาย (Objective) : ระยะสั้นและระยะยาว (Short - and Long - Term)
- การวัดผล (Measure) : ทางด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน (Financial and Non-Financial)
- ดัชนีชี้วัด (Indicator) : เพื่อการติดตามและการผลักดัน (lagging and Leading)
- มุมมอง (Perspective) : ภายในและภายนอก (Internal and External)
ซึ่งแน่นอนว่า หาก BSC ที่ทำการพัฒนาขึ้นและใช้ในองค์กร ไม่ได้พยายามทำให้เกิดความสมดุลดังกล่าวข้างต้น ก็ย่อมคาดหวังผลประโยชน์จากการทำ BSC ไม่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย