“ทรัพยากรมนุษย์”
นับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในบรรดาปัจจัยที่เป็นทรัพยากร
4 ประการของการบริหาร คือ 1) คน
(Man) 2) เงิน (Money) 3)
วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร (Material and
Machine) 4) การจัดการ (Management)
ฉะนั้น ถ้าองค์การใดขาดทรัพยากรมนุษย์
ย่อมส่งผลให้การดำเนินงานขององค์การนั้นล่าช้า
พบอุปสรรคนานาประการ
ซึ่งทำให้การดำเนินงานขององค์การไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้องค์การไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์
ก็คือ การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ (Human
Resource Planning : HRP) นั่นเอง
การวางแผนทรัพยากรมนุษย์หรือบางทีเรียกว่า
การวางแผนกำลังคน (Manpower Planning)
การวางแผนบุคลากร (Personnel Planning) หรือ
การวางแผนการจ้างงาน (Employment Planning)
การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง
กระบวนการคาดการณ์ความต้องการใช้ทรัพยากรมนุษย์ขององค์การไว้ล่วงหน้า
ว่าต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างไร ระดับใด จำนวนเท่าใด เมื่อใด
ด้วยวิธีการใด ต้องพัฒนาบุคคลให้มีความรู้ความสามารถอย่างไร
และจะควบคุมจำนวนทรัพยากรมนุษย์ในองค์การให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการดำเนินงานขององค์การได้อย่างไร
ตลอดจนการกำหนดนโยบายและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ
เพื่อจะใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เมื่อวิเคราะห์คำนิยามของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ที่กล่าวมาจะพบว่ามีองค์การประกอบ
2 ส่วนที่สำคัญ คือ การคาดการณ์
(Forecasting) และการกำหนดแผนปฏิบัติ (Programming)
จึงอาจ กล่าวได้ว่า
เป็นการนำแนวความคิดจากการคาดการณ์มาสู่การปฏิบัติจริงเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดต่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์ต่อไป