Custom Search

MBA Holiday

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กรณีศึกษาของ social enterprise ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น

• KickStart (เดิมคือ ApproTEC) โดย Nick Moon และ Martin Fisher ไนโรบี ประเทศเคนย่า (www.kickstart.org)

KickStart ซึ่งเดิมชื่อ ApproTEC ก่อตั้งขึ้นต่อต้านกระแสที่ว่าคนยากจนต้องการการบริจาค นิค มูน และมาร์ติน ฟิชเชอร์ ผู้ก่อตั้ง ApproTEC เชื่อว่าคนยากจนต้องการพัฒนาตนเองและต้องการโอกาสที่มั่นคงเพื่อสร้างศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการแก่พวกเขา

KickStart ออกแบบและผลิตเทคโนโลยีที่ช่วยคนให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิเช่น ระบบการจ่ายน้ำขนาดเล็กที่ควบคุมได้ด้วยมือและเครื่องบดเมล็ดทานตะวันและงา โดยทางบริษัทขายสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้ให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในราคาถูก เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและสามารถเปิดกิจการเล็กๆ ของตัวเองได้

การวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ของ KickStart ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นถึง 35,000 ราย โดยมีกำไรประจำปีจำนวน 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถสร้างรายได้จากค่าจ้างไปถึงผู้ประกอบการท้องถิ่นได้ทั้งในประเทศเคนย่าและแทนซาเนีย

• One World Health โดย Dr. Victoria Hale ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (www.oneworldhealth.org)

ดร. วิคตอเรีย เฮล เป็นที่รู้จักในฐานะผู้นำนวัตกรรมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมคนหนึ่ง องค์กรของเธอมีชื่อว่า วัน เวิลด์ เฮลธ์ [One World Health] เป็นบริษัทผลิตเวชภัณฑ์ที่ไม่หวังผลกำไรแห่งแรกของโลกที่พัฒนายารักษาโรคต่างๆ

ดร. เฮล ต้องการให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบเคราะห์กรรมจากโรคเขตร้อนต่างๆ ได้มีโอกาสซื้อยารักษาโรคในราคาย่อมเยา ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ สาเหตุที่ไม่มียาตัวใหม่ๆ สำหรับใช้รักษาโรคเขตร้อนนั้นเป็นเพราะบริษัทยาเห็นว่าไม่คุ้มที่จะผลิต

ดร. เฮล จึงใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีเอกลักษณ์ ก่อตั้งบริษัทยาที่สามารถผลิตยาตามความต้องการของตลาดแทนที่จะมุ่งเน้นเรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียวขึ้นมาได้ ผลก็คือได้มีการพัฒนายารักษาโรคตัวใหม่ๆ สำหรับประเทศเขตร้อนอย่างเช่น โรคมาลาเรีย ท้องร่วง และโรคพยาธิใบไม้ในกระแสเลือด

• Development Alternatives โดย Ashok Khosla (www.devalt.org)

อโชก โคสลา เป็นที่รู้จักในฐานะนักทดลองนวัตกรรมทางความคิดและกิจกรรมที่มักถูกมองว่าไม่เป็นไปตามแบบแผนของสังคม ในปี 1972 เขาได้ก่อตั้งหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของประเทศอินเดียและเป็นผู้บุกเบิกทางด้านการออกแบบและการนำโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการผสมผสานทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนามาใช้

10 ปีต่อมา เขาก่อตั้ง Development Alternatives ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่หวังผลกำไรที่ดูแลเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของเขตชนบท และที่นี่เองที่เขาได้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และคิดโครงการต่างๆ ขึ้นมามากมาย ตั้งแต่โรงไฟฟ้าประจำหมู่บ้านที่ผลิตไฟฟ้าจากของเสียทางการเกษตร จนกระทั่งโรงงานเล็กๆ ที่รีไซเคิลกระดาษและบริษัทท้องถิ่นที่ผลิตกระเบื้องมุงหลังคาราคาย่อมเยา

Development Alternatives ได้ก่อตั้งระบบโรงงานขนาดเล็กเพื่อสร้างงานให้แก่ชาวบ้านในเขตชุมชนห่างไกลด้วยการนำนวัตกรรมทางความคิดทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศและการบริหารจัดการมาผสมผสานกัน ทำให้พวกเขามีความมั่นคงทั้งทางด้านการเงิน สังคมและสิ่งแวดล้อมในสาขาที่ไม่เคยได้มีการพัฒนามาก่อน การพัฒนาโปรแกรมนี้ได้ช่วยให้คนยากจนสามารถช่วยเหลือตนเองได้และทำให้คุณภาพชีวตของพวกเขาดีขึ้น ทั้งยังช่วยปรับปรุงคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในชุมชนของพวกเขาด้วย

ผลงานที่ยิ่งใหญ่ของโคสลาคือ การดึงเอาภาครัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วม การสร้างพันธมิตรที่เหนียวแน่นและโปรแกรมท้องถิ่นที่ยั่งยืน นั้นสร้างผลกระทบเป็นลูกคลื่นที่ไม่ได้ส่งผลดีแก่อินเดียเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เขายังได้เข้าร่วมกับ WWF, IUCN, IISD, และเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมาใช้อย่างแพร่หลาย และเขายังสานต่อความตั้งใจในการศึกษาและพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำเว็บไซต์TARAhaat.com ซึ่งเป็นพอร์ทอล อินเตอร์เน็ตสำหรับชนบทของประเทศอินเดีย [Internet portal for Rural India]

• Playpumps International โดย Trevor Field ประเทศอัฟริกาใต้ (www.playpumps.org)

เมื่อเทรเวอร์ ฟิลด์ ปลดเกษียณจากการเป็นผู้บริหารด้านโฆษณา เขาได้ร่วมทีมกับนักประดิษฐ์ รอนนี่ สตุยเวอร์ [Ronnie Stuiver] ผู้ซึ่งเป็นที่รู้จักในเรื่องการขุดเจาะน้ำมันที่ประเทศเซาธ์อัฟริกา โดยได้นำเอาความคิดเรื่องการทำเพลย์ ปั๊มของเทรเวอร์มาใช้แก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำที่เซาธ์อัฟริกา

เพลย์ ปั๊มเป็นม้าหมุนสำหรับเด็กที่ช่วยสูบน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภคจากบ่อใต้ดินไปที่แทงค์เก็บน้ำทุกๆ ครั้งที่เด็กๆ หมุนเล่นและแทงค์น้ำนี้ก็เชื่อมต่อกับท่อน้ำในชุมชนเพื่อให้ทุกคนได้มีน้ำสะอาดใช้

เพลย์ ปั๊มนั้นทั้งราคาถูกและติดตั้งง่ายและยังเป็นวิธีการจ่ายน้ำและเก็บน้ำที่ดีกว่าการเดินทางออกไปหาน้ำของชาวบ้าน เพลย์ ปั๊มประมาณ 700 เครื่องถูกติดตั้งในเซาธ์ อัฟริกาและเป็นตัวอย่างที่ดีของนวัตกรรมทางวัตถุอุปกรณ์ที่ให้ทั้งความสนุกสนานและประโยชน์ ให้พื้นที่เล่นสนุกแก่เด็กๆ ในขณะที่ยังให้น้ำสะอาดปลอดภัยแก่ชาวบ้านกว่าล้านคนในชุมชนห่างไกลหลายแห่ง

และด้วยความที่เขาเป็นนักโฆษณา ความคิดต่อมาของฟิลด์คือการใช้เพลย์ ปั๊มเป็นพื้นที่โฆษณา โดยเขาขายพื้นที่โฆษณาและนำรายได้มาใช้ในการดูแลรักษาเครื่อง โฆษณาต่างๆ นั้นเป็นเหมือนสิ่งสร้างการตระหนักรเรื่องราวต่างๆ สำหรับเด็กและเทรเวอร์เองก็ได้เก็บพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับแคมเปญ “เลฟ ไลฟ” เพื่อให้ความรู้เรื่องเชื้อไวรัส เอชไอวี และโรคเอดส์แก่เด็ก

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ยังมีคนกว่า 1 พันล้านคนที่ไม่มีน้ำสะอาดสำหรับบริโภค นอกจากนั้นการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดปลอดภัยยังคร่าชีวตผู้คนไปกว่า 6,000 คนต่อวันและยังเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ทั่วโลก เทรเวอร์ตั้งใจที่จะเผยแพร่แนวคิดของเขาในประเทศอื่นๆ ของทวีปอัฟริกาเพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดน้ำสะอาดต่อไป

• XayanIT โดย Salah Uddin ประเทศบังกลาเทศ (www.xayanit.com)

ซาลาห์ อุดดิน ผู้ก่อตั้ง XayanIT คือผู้พัฒนา ลดอัตราการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่และแก้ปัญหาการว่างงานของประเทศด้วยการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่คนหนุ่มสาวบังคลาเทศ XayanIT จัดให้มีการอบรม การจ้างงานและฝึกสอนเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเน้นทักษะการสร้างเว็บไซต์ การจัดการ และการพัฒนาซอฟท์แวร์แก่เยาวชน

XayanIT มีลูกค้าจากทั้งบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุดในตลาด เมื่อปีที่ผ่านมาXayanIT ได้ร่วมงานกับบริษัทต่างประเทศสามแห่งและบริษัทขนาดใหญ่ระดับประเทศอีกสามแห่ง หุ้นส่วนหลักของ XayanIT คือ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยดาห์กา [Dhaka University Alumni Association] ซึ่งเป็นผู้ช่วยหานักศึกษาฝึกงานและงานต่างๆ สำหรับองค์กร นับตั้งแต่นั้น XayanIT ได้จ้างงานผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา 20 คน และได้จัดการอบรมทักษะต่างๆ ให้แก่นักศึกษาจำนวน 50 คน

ในฐานะของบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือสังคม XayantIT หวังว่าธุรกิจจะเติบโตและสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะดำเนินงานช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศบังคลาเทศได้

0 Comments:

Post a Comment



บทความที่ได้รับความนิยม