“คน” เป็นหนึ่งในปัจจัยทางการบริหารที่สำคัญและยอมรับกันทั่วไป เรียกย่อ ๆ ว่า “4 M’ s” อันประกอบด้วย บุคลากร หรือทรัพยากรมนุษย์ (Man) เงิน (Money) วัสดุ อุปกรณ์ (Materials) และการจัดการ (Management) จะพบว่าคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการบริหาร เพราะหากขาดกำลังคน ก็จะไม่มีตัวขับเคลื่อนปัจจัยอื่น ๆ นั่นเอง เพราะฉะนั้น ในแต่ละองค์กรจึงหันมาให้ความสำคัญในการบริหารคนในองค์กรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันคือ การบริหารงานบุคคล
ความหมายของการบริหารงานบุคคล
คำว่า “การบริหารงานบุคคล” มาจากภาษาอังกฤษที่ว่า “Personnel Administration” หรือ “Personnel Management” ซึ่งมีผู้ให้คำจำกัดความไว้อย่างหลากหลาย ดังนี้
เฟอริคซ์ เอ ไนโกร (Felix A. Nigro) ได้ให้นิยมว่า “Personnel Administration is the art of selection new employees and making use of old ones in such manner that the maximum quality and quantity of output and service are obtained from the working force” แปลว่า“ศิลปะในการเลือกคนใหม่และใช้คนเก่า ในลักษณะที่จะให้ได้ผลงาน และบริการจากการปฏิบัติงานของบุคคลเหล่านั้น ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ”
สมพงศ์ เกษมสิน มีความเห็นว่า “การบริหารงานบุคคลนั้น เป็นการจัดการ เกี่ยวกับบุคคลนับตั้งแต่การสรรหาบุคคลเข้ามาปฏิบัติงาน การดูแลบำรุงรักษา จนกระทั่งพ้นไปจากการปฏิบัติงาน”
ชูศักดิ์ เที่ยงตรง กล่าวว่า “การบริหารงานบุคคล คือ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ได้คนดี มีคุณวุฒิ และมีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ มาทำงานด้วยความสนใจ พึงพอใจ อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล”
จะเห็นได้ว่า การบริหารงานบุคคลมิใช่เพียงการเลือกและแต่งตั้งคนเข้ามาทำงาน เท่านั้น แต่เป็น การดำเนินกิจกรรมการบริหารคนตั้งแต่เริ่มต้น นับตั้งแต่ก่อนบุคคลนั้นจะเข้าสู่องค์การ จนกระทั่งพ้นจากองค์การไป เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารองค์กรโดยรวม
หลักและระบบบริหารงานบุคคล
ระบบการบริหารงานบุคคลโดยทั่วไปที่นิยมใช้มี 2 ระบบด้วยกัน คือ
1. ระบบอุปถัมภ์ (Patronage System หรือ Spoil System) เป็นระบบดั้งเดิม โดยมีแหล่งกำเนิดมาจากจีนโบราณ ที่มักใช้การสืบทอดทางสายเลือด รวมไปถึง การนำสิ่งของ มาแลกตำแหน่ง ลักษณะที่สำคัญ คือ
1)ไม่คำนึงถึงความรู้ ความสามารถ
2)ไม่เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเลือกสรร
3)มักมีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของหน่วยงาน
ข้อดี - รวดเร็ว แก้ไขสะดวก
- มีความขัดแย้งในการตัดสินใจน้อย
- เหมาะสมกับบางตำแหน่ง
- สอดคล้องกับการปกครองที่มีระบบพรรคการเมือง
ข้อเสีย - ไม่มีหลักประกันว่าจะได้คนที่มีความรู้ ความสามารถ
- มุ่งรับใช้คนมากกว่าหน่วยงาน
- ขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานไม่ดี
- หน่วยงานพัฒนาได้ยาก
2. ระบบคุณธรรม (Merit System) เกิดจากความพยายามที่จะแก้ไขข้อบกพร่อง ของระบบอุปถัมภ์ โดยเป็นระบบการบริหารบุคคลที่อาศัยความรู้ ความสามารถของบุคคลเป็นหลัก ไม่คำนึงถึง ความสัมพันธ์ส่วนตัว มีลักษณะสำคัญดังนี้
1) หลักความสามารถ (Competence) เป็นการถือความสามารถของบุคคลเป็นสำคัญ เพื่อให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ และต้องสามารถใช้ความรู้มาปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ได้อย่างเต็มที่
2) หลักความเสมอภาค (Equality Opportunity) เป็นการให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน แก่บุคคลทั้งในการเข้าสู่การเป็นราชการและอยู่ในระหว่างการเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นแนวคิดตามหลัก ประชาธิปไตยที่ให้สิทธิเสมอภาคแก่บุคคลภายในขอบเขตของกฏหมาย โดยถือว่าทุกคน จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคด้วยคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน
3) หลักความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่ (Security of Tenure) ซึ่งต้องได้รับการยอมรับ และคุ้มครองตามกฎหมาย คือจะไม่ถูกปลดออกหรือไล่ออกจากงานโดยไม่มีเหตุที่พิสูจน์ได้ หลักการนี้ มุ่งให้ข้าราชการเกิดความมั่นคงถาวรในอาชีพและเกิดความรู้สึกมั่นคงที่จะแสวงหาความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่ของตน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผลส่วนตัวหรือทางการเมือง
4) หลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) คือ การที่ข้าราชการประจำต้องเป็นกลางทางการเมืองและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มความสามารถโดยไม่ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด แต่ยังคงสิทธิทางการเมือง เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
ข้อดี - สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยที่เน้นความเสมอภาค
- ได้คนดีมีความรู้ ความสามารถเข้ามาทำงาน
- สร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน
- ช่วยหน่วยงานมีประสิทธิภาพ
ข้อเสีย - ล่าช้า
- ค่าใช้จ่ายในการสอบแข่งขันสูง
- สร้างความสัมพันธ์แบบเป็นทางการมากเกินไป
- ทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง
ทิพย์รัตน์:
วิวัฒนาการการบริหารงานบุคคลภาครัฐ
การบริหารงานบุคคลแบ่งออกเป็น 2 ยุคกว้าง ๆ ดังนี้
1.ยุคโบราณ หรือยุคดั้งเดิม แนวความคิดรูปแบบนี้ ได้รับอิทธิพล จากนักวิชาการหลายคน โดยมีจุดเริ่มต้นจากงานเขียนเรื่อง “The study of Administration” ของ วู้ดโร วิลสัน (Woodrow Wilson) ในปี ค.ศ. 1887 ซึ่งพยายามแยกการบริหารบุคคลออกจากกิจกรรม ทางการเมืองอย่างเด็ดขาด และหลังจากนั้นก็มีงานเขียนของนักวิชาการอีกหลายคน โดยแนวคิดในยุคนี้ จะเป็นการมองการบริหารงานบุคคล ในวงแคบ คือ เกี่ยวกับกระบวนการบริหารงานตั้งแต่การสรรหา การคัดเลือก การสอบ การเลื่อนขั้นการจำแนกตำแหน่งการฝึกอบรม การออกจากราชการ และประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ เป็นต้น โดยไม่สนใจกับสิ่งแวดล้อมภายนอกมองการบริหารงานบุคคล เป็นกลไกของฝ่ายบริหารที่มีสำหรับการควบคุมบุคคล (Management Control Activity) มากกว่าจะมองครอบคลุม ถึงความสัมพันธ์ของสมาชิกในองค์การ (People - connected Activity)
แนวความคิดในยุคนี้เป็นการรวมแนวความคิดในเรื่องการแยกการเมืองออกจากการบริหารอย่างเด็ดขาด เน้นความเป็นกลางทางการเมือง มีระบบคุณธรรมเป็นหัวใจในการบริหาร เป็นการบริหารที่มีลักษณะปราศจากค่านิยมเน้นแต่เทคนิคและประสิทธิภาพในการบริหารงาน และเป็นปัญหาทางการบริหารเท่านั้น ซึ่งแนวความคิดแบบโบราณนี้ ได้รับการท้าทาย และโจมตี จากนักวิชาการหลายท่าน นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นวิวัฒนาการไปสู่แนวทางที่ 2
2. ยุคใหม่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิชาการเริ่มเขียนบทความ โดยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ การแยกการบริหารออกจากการเมืองอย่างเด็ดขาดว่าทำได้จริงหรือไม่ นักวิชาการรุ่นใหม่ พยายามอธิบายว่าจริง ๆ แล้ว การบริหารนั้นจะมีค่านิยมทางการเมือง เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา ปัญหาการบริหารงานน่าจะพิจารณาในแง่การเมืองมากกว่าเทคนิค นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งที่โดนโจมตีเป็นอย่างมากคือ เรื่องของ หลักประสิทธิภาพ โดยในงานเขียนของเฟอริคซ์ เอ ไนโกร และลอยด์ จี ไนโกร ที่มีชื่อว่า “The New Public Personnel Administration” กล่าวว่า หลักประสิทธิภาพมีจุดอ่อนในตัวมันเอง 2 ประการคือ จะเป็นตัวทำลาย มากกว่าเป็นตัวช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติงาน และหลักประสิทธิภาพมุ่งเน้นแต่เฉพาะกรรมวิธี และเทคนิคในการทำงานโดยมองข้ามความเป็นมนุษย์ในองค์การใดโดยสิ้นเชิง
แนวความคิดที่ 2 นี้ จะมีมิติใหม่ของการบริหารงานบุคคล 3 ประการ คือ
1) เน้นหนักในการบริหารงานบุคคลในฐานะที่เป็นการเมืองมากขึ้น
2) ให้ความสำคัญกับค่านิยม
3) การจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ
อาจกล่าวได้ว่า แนวความคิดในยุคนี้มองการบริหารงานบุคคล เป็นระบบย่อย ของระบบการเมืองจึงอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมือง ซึ่งพฤติกรรมของบุคลากร ในระบบจะถูกกำหนดโดยพลัง ในทางการเมือง ทั้งจากภายนอกและภายใน ระบบการคัดเลือกคน เข้าสู่ระบบราชการก็จะมุ่งเน้นเรื่อง ความเสมอภาคและความยุติธรรมเป็นสำคัญ