ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ผู้ผลิต (Producer) จะมีลักษณะของเป้าหมายในการดำเนินกิจการหลายแบบด้วยกัน หนึ่งในนั้นก็คือ การทำกำไรสูงสุด (Maximize Profit) ซึ่งมักจะตามมาด้วยเงื่อนไขอีกอย่างก็คือ การผลิตภายต้นทุนที่ต่ำสุด (least cost) ทั้งสองเงื่อนไขทำมาสู่กลยุทธ (Strategy) ทางการผลิตและดำเนินการ ประเด็นอยู่ที่ว่าในระบบตลาดนั้น อาจจะไม่มีผู้ผลิตหรือผู้ขายเพียงรายเดียว นั่นทำให้เกิดการแข่งขันกัน การขับเคี่ยวและแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างกิจการจึงเกิดขึ้น แม้ระบบตลาดแข่งขัน (Competitive Market) จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค (Consumer) ในด้านที่ว่าผู้ผลิตจะมีแรงจูงใจในการเร่งพัฒนาคุณภาพหรือผลิตสิ่งใหม่ๆในรูปของนวัตกรรม (Innovation) ออกมา แต่ในมุมกลับกันการแก่งแย่งชิงดีเหล่านั้น อาจทำให้หน่วยธุรกิจแข่งขันกันจนชนิดไม่ลืมหูลืมตา จนเห็นว่าผู้บริโภคเป็นเพียงแค่ ‘หมาก’ ตัวหนึ่ง หรือ ‘ทางผ่าน’ ไปสู่เงินก้อนโต และมองข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวมด้วย ดังเช่นคำของมหาตมะ คานธีที่ว่า “An eye for an eye makes us all blind”
เรื่องนี้ต้องโยงไปถึงทฤษฎี Butterfly Effect ที่ว่าถึงการกระทำของคนๆหนึ่ง ย่อมส่งผลต่อคนอีกผู้หนึ่งและสรรพสิ่งโดยรวม ดังเช่นทางวิยาศาสตร์ที่ว่าการที่ผีเสื้อขยับปีกอาจก่อให้เกิดพายุทอร์นาโดเลยทีเดียว หรือตามสำนวนไทยที่ว่า “เด็ดดอกไม้ สะเทือนไปถึงดวงดาว” กิจกรรมในทางธุรกิจก็อยู่ภายใต้กรอบนี้เช่นเดียวกัน การดำเนินการด้วยกลยุทธอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมส่งผลต่อคนรอบข้าง อาทิ คู่แข่ง, ผู้บริโภค รวมถึงสังคมโดยรวมด้วย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เป็นยุคสมัยทุนนิยม (Capitalism) ที่ยิ่งเร่งเร้าการแข่งขัน, ยุคบริโภคนิยม-วัตถุนิยมที่ผู้คนเลือกที่จะบริโภคสิ่งต่างๆโดยไม่ลืมหูลืมตา, ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ข่าวสารข้อมูลโยงใยกันและเข้าถึงอย่างรวดเร็ว และเป็นยุคหลังทันสมัยนิยม (Post Modern) ที่เรามุ่งสู่อนาคตจนลืมอดีต ลืมสิ่งที่สามารถจะเป็นข้อคิดแก่เราได้ ดังนั้นแนวความคิด-ความรู้ที่เรียกว่า “ธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม” (Business and Social Responsibilities) จึงจำเป็นและสำคัญเหลือเกินในยุคแห่งความยุ่งเหยิง (Chaos Era) เฉกเช่นตอนนี้
ธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม คืออะไร?
ในการเสวนาที่จัดโดยเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (เอสวีเอ็น) นั้น ได้มีคำกล่าวว่า “ธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม มิใช่เพียงการให้หรือการแบ่งปัน (Philanthropy) แต่คือการประกอบธุรกิจที่สร้างสรรค์ที่ตระหนักถึง ความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม” )
แนวคิดนี้จะนำไปสู่ ‘ธุรกิจที่ยั่งยืน’ (Sustainable Business) กล่าวคือ ธุรกิจที่สร้างผลดีและไม่สร้างผลกระทบด้านลบให้กับสังคม จะเป็นธุรกิจที่สามารถดำเนินการไปได้ในระยะยาว โดยปราศจากอุปสรรคต่างๆ อย่างน้อยที่สุดก็คือ เรื่องของการต่อต้านจากประชาชนหรือพลังมวลชน
ธุรกิจที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดที่ต่อยอดมาจากแนวคิดทางสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ (Sustainable Development) คือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยคิดถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ให้คนรุ่นต่อๆไปมีความกินดีอยู่ดีอย่างน้อยเท่ากับระดับของคนรุ่นปัจจุบัน นั่นทำให้เราเห็นภาพว่าไม่ว่าจะสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยธุรกิจย่อมต้องอาศัยการ ‘มองการไกล’ (Long Run) เช่นเดียวกัน ไม่ใช่การมองในระยะสั้น (Short Run) เหมือนที่เป็นอยู่เช่นดังทุกวันนี้ ด้วยเพราะคนเรานั้นมีอายุไข (life span) จึงคิดถึงเพียงตัวเองเท่านั้น พยายามกอบโกยผลประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นำไปสู่การขาดจริยธรรมทั้งในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นปัญหาโลกร้อน (Global Warming) และคอรัปชั่นก็มีสาเหตุมาจากแหล่งเดียวกัน นั่นก็คือ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ถ้าเช่นนั้นอาจจะเป็นจริงที่มีคำกล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัวที่สุดในโลก”