Custom Search

MBA Holiday

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

CSR

ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ บทบาทของการเป็นบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่มบรรษัทและกิจการธุรกิจ (Good Corporate and Corporate Social Responsibility) มีความสำคัญมากขึ้นทั้งในแง่ของการเป็น “แนวคิด” “กลไก” และ “เครื่องมือ” ที่สำคัญของการพัฒนาองค์กรธุรกิจ การพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม ของโลกอย่างยั่งยืน นับตั้งแต่มีการประชุมระดับโลกครั้งแรกที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี ๒๕๓๕ ได้มีการกล่าวถึงทิศทางใหม่ของการพัฒนาที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้เกิดการพัฒนาที่เอาใจใส่ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงด้านเดียว โดยเริ่มมีข้อเรียกร้องมากดดันองค์กรธุรกิจ ให้คำนึงถึงปัญหาสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ทำแต่กำไรโดยไม่ใส่ใจต่อปัญหา โดยมีคำที่ใช้เรียกกันคือ “corporate citizenship” หรือ “responsible corporate citizenship” หรือ “corporate social responsibility (CSR)” ในประเทศไทย หลังจากมีการนำแนวคิดธรรมาภิบาล และการกำหนดมาตรฐาน ISO ในด้านต่างๆมาประยุกต์ใช้ในภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว แนวคิดที่มีอยู่ดั้งเดิมคือ “การช่วยเหลือแบ่งปัน” และ “การให้เพื่อพัฒนาสังคม” รวมไปถึง “การทำบุญให้ทาน” ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาจึงได้มีกลุ่มธุรกิจและองค์กรต่างๆร่วมกันดำเนินการผลักดันแนวคิดและกระบวนการของ CSR ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม เครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Thai CSR) อธิบายความหมายของ CSR ไว้ว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงบรรษัท หมายถึงการดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในระดับใกล้และไกล ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร หรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข พัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่ดี ทั้งในแง่ของการเจริญเติบโตทางธุรกิจที่ต้อง “เก่ง” ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นองค์กรที่ “ดี” หมายถึงการมีคุณธรรม จริยธรรมเชิงบรรษัท (CSR) และ SRI (Social Responsibility Investing) หรือการลงทุนแบบรับผิดชอบต่อสังคม
กล่าวโดยสรุป CSR ก็คือการทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนผู้อื่นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นใครหรือเมื่อใด ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งหลักการของ CSR ไม่สนับสนุนการรีบเร่งสร้างความเจริญเติบโตของธุรกิจ หรือการมุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่น แต่ CSR เป็นเครื่องมือในการบริหารที่ได้รับความเชื่อมั่นว่า จะสามารถช่วยให้องค์กรธุรกิจดำเนินกิจการให้เจริญเติบโตได้อย่างมั่นคงไปพร้อมๆกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนและชุมชน และความยั่งยืนของสังคม ซึ่งสอดคล้องกับทั้งหลักการเศรษฐกิจพอเพียงที่ปรากฏเด่นชัดขึ้นในประเทศไทย โดยเป็นทั้งกระบวนการและเป้าหมายที่จะทำให้เกิดดุลยภาพทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

0 Comments:

Post a Comment



บทความที่ได้รับความนิยม