Custom Search

MBA Holiday

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ศิริชัย สาครรัตนกุล ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3705(2905)

1.การพัฒนาที่ยั่งยืน กับ CSR

ตั้งแต่มีการประชุมระดับโลก (earth summit) ครั้งแรกที่กรุงริโอเดจาเนโร ในปี ค.ศ.1992 คือเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็เริ่มตื่นตัวกับทิศทางใหม่ของการพัฒนา นั่นคือ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า "sustainable development" ซึ่งหมายความว่า นอกจากประเด็นในทางด้านเศรษฐกิจแล้วต้องใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และในประเด็นต่างๆ ทางด้านสังคมด้วย ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว

ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีข้อเรียกร้องมากดดันองค์กรธุรกิจให้คำนึงถึงปัญหาสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ทำแต่กำไร โดยไม่ใส่ใจต่อปัญหาดังกล่าว โดยมีคำที่ใช้เรียกกัน คือ "corporate citizenship" หรือ "responsible corporate citizenship" หรือ "corporate social responsibility" แปลเป็นไทยได้ว่า "ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ" หรือเรียกกันย่อๆ ว่า "CSR"

กระแสของโลกในเรื่อง CSR นี้ เริ่มเข้มข้นจริงจังและรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 OECD ซึ่งได้แก่องค์กรของที่ประเทศร่ำรวยที่สุดของโลกได้ออกแนวปฏิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติ (guidelines for MNE"s - revision 2000) อันที่จริง guidelines for MNE"s นี้มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1976 แล้ว และก็มีการแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ มาตลอด ในปี 2000 มีการแก้ไขครั้งใหญ่โดยเอาเรื่อง CSR ใส่เข้าไปเต็มที่

ที่ว่าเข้มข้น จริงจัง และรุนแรง เพราะ guidelines นี้เสนอแนะให้บรรษัทข้ามชาติมี CSR และไม่เพียงเท่านั้น ยังเสนอให้บรรษัทข้ามชาติติดต่อค้าขายกับคู่ค้าทั่วโลกเฉพาะที่มี CSR เพราะฉะนั้น ในโลกยุคใหม่ธุรกิจใดที่ไม่มี CSR ก็ไม่สามารถส่งสินค้าไปขายให้บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ได้ นั่นคือ ถ้าธุรกิจใดสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจใดยังใช้แรงงานเด็ก มีปัญหาด้านแรงงาน และอื่นๆ ก็จะมีปัญหาในการทำมาค้าขายกับประเทศ OECD

อันที่จริงธุรกิจไทยส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะพวกที่ส่งออกอาหารไปยุโรป จะถูกบังคับด้วยกฎกติกาต่างๆ มากมายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สวัสดิการแรงงาน หรือแม้กระทั่งสวัสดิการต่อสัตว์ที่เข้าโรงฆ่า (animal welfare) บริษัทเหล่านี้มี CSR อยู่แล้ว แต่อาจไม่รู้ตัวหรือไม่รู้จักคำว่า CSR ด้วยซ้ำไป

2.SRI ในอดีตและปัจจุบัน

นอกจากกระแสด้านลบ ที่มาบีบบังคับเราผ่านกฎกติกาของผู้ซื้อสินค้าและบริการแล้ว ยังมีกระแสด้านบวก ซึ่งมาจากแวดวงการเงิน นั่นคือ กระแส "SRI" ที่ย่อมาจากคำว่า "socially responsible investment" หรือ "sustainable and responsible investment" แปลเป็นไทยได้ว่า "การลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม" หรือ "การลงทุนที่รับผิดชอบและยั่งยืน" สมัยก่อนเราอาจเคยได้ยินคำว่า green funds สมัยนี้คำนี้ค่อยๆ หายไป แต่กลายเป็น SRI FUNDS หรือ ETHICAL FUNDS แทน

เงินเหล่านี้บวกกับเงินของพวก Pension funds และ Islamic funds ทั้งหลายซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาล พร้อมที่จะมาลงในบริษัทดีๆ ที่มี CSR เงินเหล่านี้เป็นเงินนิ่ง เงินยาว เมื่อลงแล้วจะไม่วิ่งเข้าออกเหมือนพวก hedged funds หรือเงินร้อน เงินสั้น อื่นๆ

อันที่จริงประวัติของ SRI ซึ่งเป็นคำใหม่ แต่มีรากยาวมานานตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 สมัยนั้นเป็นความเคลื่อนไหวทางด้านจริยธรรม จากแวดวงคนเคร่งในศาสนา ที่หลีกเลี่ยงการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพนัน และของมึนเมา เช่น บุหรี่ และเหล้า ตอนนั้นเรียกกันว่า Ethical Investment

ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา 1 ใน 8 ของเงินที่ลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ เป็นเงินที่ลงทุนใน SRI-Funds ซึ่งมีจำนวนถึง 2.2 ล้านล้าน US$ โดยมีจำนวนกองทุนทั้งหมด 192 กองทุน (ข้อมูล ณ สิ้นปี ค.ศ.2001) เป็นที่คาดกันว่าในแคนาดายังมีอีก 38.2 พันล้าน US$ ในสหราชอาณาจักรมีเงินอีก 6 พันล้าน US$ ที่ลงทุนใน SRI Funds จำนวน 67 กองทุน และยังมีอีก 250 พันล้าน US$ ที่เป็นเงินใน portfolios ต่างๆ ที่มีนโยบาย SRI โดยในประเทศที่เหลือของยุโรปมี SRI Funds ประมาณ 10 พันล้าน US$ ในแถบเอเชีย-แปซิฟิกมีออสเตรเลียที่มีเงินประมาณ 14.3 พันล้าน US$ ที่เป็น SRI Funds (รวมเงินของโบสถ์ด้วยแล้ว) ในญี่ปุ่นมีประมาณ 1 พันล้าน US$ ในประเทศที่เหลือของเอเชียอีกประมาณ 1.5 พันล้าน US$

โดยรวมทั่วโลกในปัจจุบันมีเงินประมาณ 2.5 ล้านล้าน US$ ที่พร้อมที่จะลงทุนในธุรกิจที่มี CSR และเงินจำนวนนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ในช่วงปี 1995-2001 อัตราการเจริญเติบโตของ SRI Funds ในสหรัฐอเมริกา อยู่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี ในสหราชอาณาจักรโตเฉลี่ยร้อยละ 49 ต่อปี

3.นิยามและองค์ประกอบของ CSR

คำว่า CSR ที่ย่อมาจากคำว่า corporate social responsibility ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ" ยังไม่มีคำนิยามที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่มีนิยามที่ใช้กันบ่อย เป็นของ World Business Council for Sustainable Development ที่นิยาม CSR ไว้ว่า

"เป็นความมุ่งมั่นหรือพันธะสัญญาที่ธุรกิจมีอยู่อย่างต่อเนื่องในการที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานตลอดจนครอบครัวของเขาเหล่านั้น ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคมในวงกว้าง" ("The continuing committment by business to behave ethically and contribute to economic development while improving the quality of life of the workforce and their families as well as of the local community and society at large")

เนื่องจากไม่มีนิยามที่ชัดเจนสำหรับ CSR ดังนั้นองค์ประกอบหรือขอบเขตของ CSR จึงไม่ชัดเจนนัก จากเอกสารการอบรมในหลักสูตร CSR ของธนาคารโลกระบุว่า CSR ควรมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ 1)สิ่งแวดล้อม 2)แรงงาน 3)สิทธิมนุษยชน 4)การมีส่วนร่วมกับชุมชน 5)มาตรฐานการดำเนินธุรกิจ 6)ตลาด และ CSR ในความหมายที่กว้างออกไป ก็รวมประเด็นต่างๆ เหล่านี้ด้วย 7)การพัฒนาองค์กร และการพัฒนาเศรษฐกิจ 8)สุขอนามัย 9)การศึกษาและการพัฒนาภาวะผู้นำ 10)การบรรเทาสาธารณภัย

นอกจากนี้ "OECD - Concensus" ที่ใช้เรียก OECD Guidelines for MNE"s - Revision 2000 ระบุถึงพฤติกรรมของธุรกิจที่พึงประสงค์ใน 7 เรื่องด้วยกัน คือ

1)การจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ 2)สิทธิมนุษยชน 3)สิ่งแวดล้อม 4)การเปิดเผยข้อมูล 5)การแข่งขัน 6)การเสียภาษี 7)วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำหรับ The Global Compact ของ UN (กล่าวคือ ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1999 ในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ท่านเลขาธิการสหประชาชาติ Kofi Annan ได้เรียกร้องให้ธุรกิจ แสดงความเป็นพลเมืองที่ดีของโลก (good global citizenship) ในทุกที่และในทุกประเทศที่ตนทำมาหากินอยู่ ด้วยการเคารพต่อหลักต่างๆ ที่เป็นข้อตกลงนานาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องมาตรฐานแรงงาน และเรื่องสิ่งแวดล้อม จาก 3 เรื่องที่กล่าว ท่านเลขาฯ Kofi Annan ได้เสนอบัญญัติ 9 ประการ (ต่อมาเพิ่มเป็น 10) สำหรับธุรกิจ ที่เรียกกันว่า "The Global Compact" หรือ "The UN Global Compact" ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2000 ได้มีประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก The UN Global Compact นี้ มีลักษณะเป็นกรอบที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยความเป็นพลเมืองดีของธุรกิจที่มีผู้นำที่สร้างสรรค์ และยอมรับพันธะสัญญาของ Global Compact ด้วยความสมัครใจ ดังนั้น Global Compact จึงไม่เป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมธุรกิจ และไม่เป็นจรรยาบรรณที่มีผลผูกมัดทางนิตินัย และไม่เป็นเครื่องมือให้ธุรกิจใช้เป็นตราแสดงความเป็นพลเมืองดี โดยไม่ต้องทำการใดเลย ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจเป็นสมาชิกของ UN Global Compact แล้ว 1861 องค์กร) (ดูรายละเอียดได้ใน www.unglobalcompact.org) มีองค์ประกอบดังนี้

หมวดว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 1)สนับสนุนและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนที่ประกาศในระดับสากล 2)ดูแลไม่ให้มีการล่วงละเมิดในสิทธิมนุษยชนในธุรกิจของตน

หมวดว่าด้วยมาตรฐานแรงงาน 3)สนับสนุนเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงาน และยอมรับอย่างจริงจัง ต่อสิทธิในการเจรจาต่อรองของแรงงานที่รวมกลุ่ม 4)ขจัดทุกรูปแบบของการบังคับใช้แรงงาน 5)ยกเลิกการใช้แรงงานเด็กอย่างให้เป็นผล 6)กำจัดการเลือกปฏิบัติในการว่าจ้างแรงงานและอาชีพ

หมวดกำกับสิ่งแวดล้อม 7)สนับสนุนการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม 8)จัดทำกิจกรรมที่มีส่วนส่งเสริม ให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 9)ส่งเสริมการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้มีการเพิ่ม บัญญัติที่ 10 ที่ว่าด้วย 10)การต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ด้วยเหตุนี้ ในการประเมินว่าธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมี CSR หรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ในการสำรวจธุรกิจในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย ของ The Centre of Urban Planning and Environmental Management ของ The University of Hong Kong* ได้จำแนกองค์ประกอบของ CSR ออกได้มากมายถึง 20 องค์ประกอบ

0 Comments:

Post a Comment



บทความที่ได้รับความนิยม